การเรียนการสอนพระไตรปิฎกในพม่า มีลักษณะอย่างไร?

จากคำถามที่ว่า “ลักษณะ การเรียนการสอนพระไตรปิฎกในพม่า มีลักษณะอย่างไร?” คณะเดินทางศึกษาเรียนรู้ตาม สถานสำคัญ ใน ประเทศเมียนมาร์ ที่มีบทบาทในการ รักษาพระไตรปิฎก ให้สามารถถ่ายทอดมาถึงพระเณร อุบาสกอุบาสิกา ได้ศึกษาเล่าเรียนจนกระทั่งปัจจุบัน นำโดย พระมหาประนอม ธัมมาลังกาโร เจ้าอาวาส วัดจากแดง เป็นผู้นำคณะเดินทางจากกลุ่มพระไตรปิฎกศึกษา, มูลนิธิพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน, โครงการส่งเสริมการเรียนบาลี วัดจากแดง และมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ประกอบด้วย พระสงฆ์ ๑๘ รูป ฆราวาส ๑๓ คน ระหว่างวันที่ ๒๘ มีนาคม ถึง ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

พระมหาประนอม การเรียนการสอน

คณะเดินทางได้เข้าศึกษาเรียนรู้ตามสถานที่ที่มีบทบาทในการรักษาถ่ายทอดพระไตรปิฎกให้พระเณร อุบาสกอุบาสิกา รวมถึงเด็กและเยาวชน ได้ศึกษาเล่าเรียน และได้พบพระเถระ ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก รวมทั้งผู้ที่มีบทบาทในการจัดการศึกษาด้านศาสนาและวัฒนธรรมให้แก่เด็กและเยาวชน จากองค์กรต่างๆ

สถานที่สำคัญ ที่ได้เดินทางไปศึกษาเรียนรู้ รวม ๘ แห่ง มีดังนี้

  • มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเถรวาทนานาชาติ (International Theravada Buddhist Missionary University-ITBMU
  • มหาวิทยาลัยศาสนาปริยัติแห่งชาติหรือมหาวิทยาลัยสงฆ์กะบาเอ้
  • วัดมหาคันธาโยง
  • วัดวิสุทธาโยง
  • วัดงาจำเปี่ยน
  • วัดสีนยะตะนา
  • มูลนิธิธัมมสกูล
  • โรงเรียนธัมมสกูล (Dhamma School)

 

การเรียนการสอนพระไตรปิฎกในพม่า

“ทำไมเราต้องไปดูงานการศึกษาพระพุทธศาสนาที่พม่า”

การศึกษาปริยัติปฏิบัติและการเผยแผ่พุทธศาสนาในพม่าอย่างเข้มแข็ง เห็นได้จากแต่ละปีที่ผ่านมา ชาวพุทธในพม่า สามารถผลิตบุคลากรทางศาสนาที่รู้พระไตรปิฎกได้มาก อีกทั้งยังมีพระและเณรได้จบหลักสูตรการเรียนบาลี และพระไตรปิฎกขั้นต้น จำนวน ๓-๔ ร้อยรูป นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๗๐ ปี รัฐบาลและชาวพม่า ได้ช่วยกันอุดหนุนค้ำจุนให้เกิด “ติปิฏกธระ” หรือพระผู้สามารถทรงจำพระไตรปิฎกได้ อันได้แก่ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม มีจำนวนมากถึง ๑๔ รูป ที่ทรงจำสองปิฎกมีเป็นจำนวนหลักร้อย และทรงจำหนึ่งปีดก มีเป็นจำนวนหลักพัน 

https://www.facebook.com/tipitakasikkhalai/posts/101888598229306

 

กล่าวได้ว่า การปรากฏขึ้นของ “ติปิฏกธระ” เป็นความมหัศจรรย์ของมนุษยชาติ ๓ ประการ คือ

  • พิสูจน์ได้ว่ามนุษย์มีศักยภาพในการทรงจำเนื้อหาที่มีมากกว่า ๑๖,๐๐๐ หน้า ออกเสียงได้มากกว่า ๙ ล้านพยางค์ ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี 
  • ผลที่เกิดจากความทรงจำอันแม่นยำ พระผู้ทรงจำพระไตรปิฎก สามารถเชื่อมโยงแยกแยะ ปรับประยุกต์ จากเรื่องที่ยาก ให้เป็นเรื่องง่าย ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้สามารถบอกสอนแสดงธรรมแก่สานุศิษย์ ได้อย่างแตกฉาน 
  • พระผู้ทรงจำพระไตรปิฎก ล้วนเจริญกรรมฐาน หมายถึง มนุษย์ได้อาศัยกระบวนการเรียนรู้ครบองค์ประกอบ ๓ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จนเข้าถึงความจริงได้ทุกยุคสมัยข้อมูล

ความอัศจรรย์เหล่านี้ทำให้เราตระหนักดีว่า พม่า ได้สร้างคน สร้างพระมีชีวิต ด้วยการให้มีความรู้ทางด้านปริยัติ และปฏิบัติ จากการเรียนการสอนพระไตรปิฎก และภาษาบาลี 

พระประนอม ห้องเรียน พม่า

“การเรียนการสอนพระไตรปิฎกในพม่า มีลักษณะอย่างไร”

 กลุ่มพระไตรปิฎกศึกษา, มูลนิธิพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน, โครงการส่งเสริมการเรียนบาลีวัดจากแดง และมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้ร่วมกันจัดคณะเดินทางไปศึกษาหาคำตอบที่พม่า พระมหาประนอมธัมมาลังกาโรเจ้าอาวาส วัดจากแดง ได้นำคณะเดินทางประกอบด้วยพระสงฆ์ ๘ รูปภาพ ฆราวาส ๑๓ คน ได้เดินทางเข้าศึกษาเรียนรู้ตามสถานที่ที่มีบทบาท ในการรักษาถ่ายทอดพระไตรปิฎก ให้พระเณรอุบาสกอุบาสิกา รวมถึงเด็ก และเยาวชน ได้ศึกษาเล่าเรียน และได้พบพระเถระ ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก รวมทั้งผู้ที่มีบทบาท ในการจัดการศึกษาด้านศาสนา และวัฒนธรรม ให้แก่เด็กและเยาวชน จากองค์กรต่าง ๆ ในสถานที่ดูงาน รวม ๘ แห่ง

พระมหาประนอม

มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเถรวาทนานาชาติ  International Theravada Buddhist Missionary University (ITBMU)

มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ มีการเรียนการสอนพระไตรปิฎกบาลี โดยเอาเนื้อหาสาระตามพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรมมาปรับสอน ด้วยภาษาอังกฤษ โดยแบ่งการสอนเป็น ๔ คณะ ได้แก่ 

  • ปริยัติ แยกเป็นพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม
  • ปฏิบัติ แยกเป็นสมถะ และวิปัสสนา
  • มิชชันนารี เรียนธรรมะทั่วไป เพื่อเผยแผ่ เน้นการสอนพระสูตร เพื่อให้ชาวบ้านนำไปปฏิบัติได้จริง
  • ศาสนาเปรียบเทียบศึกษา ๔ ศาสนา คือ ฮินดู พุทธ คริสต์ และอิสลาม

นักศึกษาจะต้องลงเรียนทั้ง ๔ คณะ เมื่อทำวิทยานิพนธ์ ให้เลือกทำภายใต้หัวข้อหลัก 5 หัวข้อ คือ พระวินัย, พระสูตร, พระอภิธรรม, สมถะ, และวิปัสสนา 

หลักสูตรที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มี ๔ ระดับ ได้แก่ อนุปริญญา เป็นการเตรียมพื้นฐาน ๑ ปี, ปริญญาตรี ๒ ปี ปริญญาโท ๓ ปี และสามารถเรียนต่อได้ถึงปริญญาเอก ผู้สมัครเรียนที่เป็นฆราวาสจะต้องจบปริญญาตรี ถ้าหากเป็นพระ จะต้องจบธัมมาจริยะ หรือเทียบเท่ากับเปรียญธรรม ๙ ประโยคของไทย และต้องมีความรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีอีกด้วย 

มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเถรวาทนานาชาติ ได้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้เรียนฟรีตลอดหลักสูตร นักศึกษาที่เรียนจบ ถือเป็นพนักงานของรัฐ มีหน้าที่เผยแผ่พระศาสนาไปทั่วโลก

มหาวิทยาลัยศาสนาปริยัติแห่งชาติ (State Pariyatti Sasana University) Website>>

มหาวิทยาลัยศาสนาปริยัติแห่งชาติ หรือเรียกอีกชื่อว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์กาบาเอ ที่นี่มีการเรียนพระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างเข้มข้น ได้รับการยกย่องว่าเป็น ตักสิลาทางศาสนาที่พระพม่าต่างใฝ่ฝันเข้าศึกษาต่อ

พระอาจารย์ใหญ่มิงกุนสียาดอภาพพระอาจารย์ใหญ่มิงกุนสียาดอ (พระอาจารย์ภัททันตะ วิจิตตะ สาราภิวังสะปฐมตริปิฏกะธร ตรีปิฎกโกวิทะ ตรีปิฎกะธรรมภัณฑาคาริกะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปฐมมีงกุน สยาดอแห่งเมืองสะกายพระผู้ทรงพระไตรปิฎกรูปแรกของพม่า เป็นผู้ก่อตั้ง เพื่อฟื้นฟูการศึกษาพระไตรปิฎก ให้พระศาสนาตั้งมั่นอยู่ได้ เปิดสอนมากกว่า ๒๐ ปี เปิดรับเฉพาะพระภิกษุที่จบปฐมะจีตัน หรือเทียบเท่ากับเปรียญธรรม ๕ ประโยคของไทย แล้วเรียนธัมมาจริยะ ๔ ปี วุฒิเทียบเท่าปริญญาตรี ต่อด้วยมหาธัมมาจริยะเทียบเท่าปริญญาโท และต่อปาฬิปารคูในระดับปริญญาเอก ทางรัฐบาลพม่าได้ให้ทุนก่อสร้างอาคารและค่าเล่าเรียน สวนญาติโยมได้ร่วมกันลงขัน จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ ดูแลค่าใช้จ่ายของพระสงฆ์ตลอดทั้งปี ดูคลิปวีดีโอพระอาจารย์ใหญ่มิงกุน สยาดอ…คลิก

วัดมหาคันธาโยง 

การเรียนการสอนของพระเณรภายในวัดมหาคันธาโยง (มหรรณพาราม ในภาษาไทย) มี ๓ หลักสูตร คือ สามเณรจ่อ ธัมมาจริยะ และพระไตรปิฎก สามเณรจ่อ เป็นหลักสูตรที่จัดโดยเอกชน แบ่งการเรียนการสอนออกเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับปฐมะ ระดับทุติยะ และระดับตติยะ เพื่อให้สามเณรเรียนจบก่อนที่จะบวชเป็นพระ คล้ายนาคหลวงของไทย เน้นการเรียนวินัยปิฎกอย่างเจาะลึก

การเรียนระดับพระไตรปิฎกของวัดมหาคันธาโยง ใช้หลักเช้าสอน บ่ายท่อง เย็นทวน วิธีการท่องจำพระไตรปิฎก เริ่มจากเรียนพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจตามหลักสูตร มีการปฏิบัติกรรมฐาน ทำให้จำได้ดีขึ้น เมื่อมาสอนนักเรียนจนตนเองกระจ่างแล้ว จึงมาท่องจำ วิธีท่องเริ่มต้นจากค่อย ๆ เพิ่มตามลำดับจาก ๒-๒๐ หน้าต่อวัน 

วัดวิสุทธาโยง หรือวัดวิสุทธารามในภาษาไทย

ที่วัดนี้มีการเรียนแบบอ่านท่องของสามเณร และเด็กหญิงที่บวชเป็นชี ท่านเจ้าอาวาสของวัดนี้เป็นพระผู้ทรงพระไตรปิฎก ลำดับที่ ๕ ท่านมีปฏิปทาในการสอนควบคู่ไปกับการปฏิบัติ ส่วนรองเจ้าอาวาสของวัดนี้เป็นผู้ทรงจำ ๒ ปิฎก การเรียนพระไตรปิฎกของพม่าเรียนทั้งบาลี อรรถกถา และฎีกา จึงทำให้รู้จักตั้งแต่ส่วนหัวคือบาลี ก่อนมาถึงกลางตัวคืออรรถกถา และหางคือฎีกา ทำให้สามารถเห็นภาพของพระไตรปิฎกทั้งหมด

วัดในพม่าเป็นที่ให้การศึกษาแก่พระเณรและชี โดยเจ้าอาวาสทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน แต่ละวัดจะมีหลักสูตรไม่เหมือนกัน มีทั้งหลักสูตรของรัฐ และเอกชน โดยส่วนใหญ่หลักสูตรของเอกชน จะถือได้ว่าเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับพระเณรโดยรัฐ มี ๕ ขั้น

  • มูลตัน
  • ปฐมะแหง่ตัน
  • ปฐมะลัตตัน
  • ปฐมะจีตัน
  • ธัมมาจริยะ

หากเรียนขั้นสูงต่อไปเป็นมหาธัมมาจริยะ(ปริญญาโท) และปาฬิปารคู(ปริญญาเอก) พระที่จะเป็นเจ้าอาวาสได้ จะต้องจบขั้นปฐมะจีตันก่อน แล้วเรียนต่ออีก ๒ ปี ที่โรงเรียนพระสังฆาธิการ เพื่อเรียนกรรมฐานการแสดงธรรมเทศนาให้ถูกต้อง และอื่น ๆ และในทุก ๒ ปี ก็จะมีการประชุมทบทวนการเรียนการสอนของครูผู้สอน ทำให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ

การเรียนการสอนในพม่า

โรงเรียนปริยัติธรรม วัดงาจำเปี่ยน

เป็นการเรียนการสอนสำหรับเณร มี ดร.พระธรรมะปิยะ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้พัฒนาวัดให้เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม รับเด็กยากจนที่จบ ป. ๔ มาศึกษาเล่าเรียน และขยายโอกาสให้นักเรียนหญิงที่บวชเป็นชี ได้ไปเรียนด้วย ปัจจุบันวัดงาจำเปี่ยนได้ยกระดับขึ้นเป็นวิทยาเขต สถาบันทางธรรมในระดับอนุปริญญา และปริญญาตรี โดยเป้าหมายของหลักสูตร คือ ให้เณรมีความรู้แตกฉาน ทั้งทางธรรมและวิชาการทางโลก มีความรู้ภาษาอังกฤษ มีความประพฤติน่าเลื่อมใส และมีวาทะโน้มน้าวใจ ดั่งเช่นสามเณรนิโครธ ที่เคยเทศนาโปรดพระเจ้าอโศกมหาราช กระทั่งทรงหันมานับถือพุทธศาสนา 

 

การศึกษาพระไตรปิฎกสำหรับฆราวาส วัดสีนยะตะนา

มีการเรียนการสอนพระไตรปิฎกและธัมมาจริยะ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สอนและสอบพระไตรปิฎกภาษาพม่าให้กับฆราวาส อีกด้วย การสอบของฆราวาสแบ่งเป็น ๙ ขั้น มีใบรับรอง ๙ ใบ 

  • ขั้น ๑ วินยมามกะ
  • ขั้น ๒ ทีฆนิกายมามกะ
  • ขั้น ๓ มัชฌิมนิกายมามกะ
  • ขั้น ๔ สังยุตตนิกายมามกะ
  • ขั้น ๕ อังคุตตรนิกายมามกะ
  • ขั้น ๖ ขุททกนิกายมามกะ ๑ 
  • ขั้น ๗ ขุททกนิกายมามกะ ๒
  • ขั้น ๘ อภิธัมมมามกะ ๑ 
  • ขั้น ๙ อภิธัมมมามกะ ๒ 

จุดเด่นของวัดสีนยะตะนา คือ ห้องสมุดพระไตรปิฎกบาลีระบบดิจิทัล ที่เป็นแหล่งสารสนเทศ ที่ได้รวบรวมพระไตรปิฎกนานาชาติ รวมทั้งคัมภีร์หายาก อื่นๆ มาจัดทำระบบหมวดหมู่ ช่วยในการค้นคว้าเพื่อลดความสับสนจาก การจัดแบ่งบทตอนในแต่ละภาษา ที่ไม่ตรงกัน ทำให้สะดวกต่อการสืบค้นมากยิ่งขึ้น

 

การขยายผลการศึกษาพระไตรปิฎกลงสู่เด็กและเยาวชน ในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์

เนื่องจากไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนโรงเรียนธรรมะสกูล (Dhamma School) จึงเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนพุทธศาสนา ที่ตรงตามพระไตรปิฎก และเรียนอย่างมีความสุข รวมทั้งนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีมูลนิธิธรรมสกูล (Dhamma School Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานโดยคณะพระสงฆ์ เป็นผู้สนับสนุนมูลนิธิฯ มีภารกิจหลัก คือ การจัดทำแบบเรียนคู่มือครู และการฝึกอบรมครูให้ใช้แบบเรียนได้อย่างถูกต้อง ให้การสนับสนุนโรงเรียนแต่ละแห่ง เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงมัธยมปลาย ใช้หลักการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูมีความใกล้ชิดเข้าใจเด็ก และรู้วิธีเรียนของเด็ก พาเด็กทำงานโดยใช้สื่อการสอน เช่น เพลง บทกวี เกม ภาพ นำมาเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ 

ปัจจุบันมีโรงเรียนธรรมะสกูล เปิดสอนอยู่ประมาณ ๑๖,๐๐๐ แห่ง ทั่วประเทศ มีครูอาสาสมัครสอนโดยไม่รับค่าตอบแทนราว ๘,๐๐๐ คนและมีนักเรียนในระบบนี้ประมาณ ๒ ล้านคน 

พม่าสนับสนุกการเรียนพระไตรปิฎก

จากการศึกษาดูงาน เราจะเห็นว่าการเรียนการสอนพระไตรปิฎกในพม่า มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การเรียนการสอนสำหรับพระเณร การเรียนการสอนสำหรับฆราวาส การเรียนการสอนสำหรับพระและฆราวาสรวมกัน จนถึงการเรียนการสอนสำหรับเด็กและเยาวชน หากเปรียบงานการศึกษาพระไตรปิฎกของพม่าดั่งต้นไม้ที่เจริญเติบโตงอกงาม พม่าได้ส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่ระดับรากหรือแก่นของต้นไม้ ซึ่งหมายถึงพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก ลำต้น ก็คือ สถาบันการศึกษาในระบบ ที่นำพาผู้เรียน ผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาพระธรรมวินัยที่ได้มาตรฐาน และมีคุณวุฒิรับรองเป็นหลัก ส่วนกิ่งก้าน ก็คือ การพัฒนาครูผู้สอนให้แตกใบดอกผลแแผ่ขยายการศึกษาพระไตรปิฎกลงสู่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยมีการพัฒนานวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยหล่อเลี้ยงต้นไม้ ให้เติบโตงอกงาม รองรับการเผยแผ่พระไตรปิฎกสำหรับสังคมยุคใหม่ 

สำหรับชาวพม่า การศึกษาพระไตรปิฎก เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้และปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพื่อรักษาและสืบต่อพระพุทธศาสนา การไปศึกษาดูงานที่พม่าครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ว่า พม่า มีการจัดการศึกษาพระไตรปิฎกให้เข้าถึงคนทุกระดับ โดยศึกษาทั้งด้านคันถธุระ หรือศึกษาเล่าเรียนตามตำรา ควบคู่ไปกับวิปัสสนาธุระ พม่ามีการปรับกระบวนการเรียนการสอนธรรมะสำหรับเด็ก และเยาวชน ให้ทันสมัย ฝึกให้เด็กมีฉันทะและศรัทธาในการศึกษาคำสอนตามพระไตรปิฎก มองเห็นแก่นและความเกี่ยวข้องกับชีวิตและนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้จริง ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเช่นไร

 

วีดีโอ: “การสวดสาธยายพระไตรปิฎกและติปิฏกเทสนา โดยพระมหาเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก ๙ รูปของโลก” โดย พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร ประธาน ติปิฏกสิกขาลัย เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๑๒.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยาย เรื่อง ความเป็นมาการสวด-ทรงจำ, พระไตรปิฎกในประเทศเมียนมา, และแนะนำพระผู้ทรงพระไตรปิฎก และนำสวดรัตนสูตร


ภาพและข่าวจาก:


โพสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:

ลักษณะ การเรียนการสอนพระไตรปิฎกในพม่า มีลักษณะอย่างไร?