งานฉลอง กฏหมายคุ้มครองพระพุทธศาสนา เมียนมาร์
งานฉลอง กฏหมายคุ้มครองพระพุทธศาสนา เมียนมาร์
ประเทศเมียนมาร์ เมืองย่างกุ้ง ช่วงวันอาทิตย์ที่ 4 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา ชาวเมียนมาร์ทั้งพระและฆราวาสมากกว่า 3 หมื่นรูป/คน ต่างมุ่งตรงไปยังสนามกีฬาแห่งชาติย่างกุ้ง เพื่อร่วมกิจกรรม “งานเฉลิมฉลองการบังเกิดขึ้นแห่งพระราชบัญญัติ เพื่อความสามัคคี กลมเกลียว และความสงบสุขแห่งชาติ” หลังจากรัฐสภาได้ผ่านกฎหมายคุ้มครองพระพุทธศาสนาจำนวน 4 ฉบับคือ
1. กฎหมายว่าด้วยการควบคุมประชากร
2. กฎหมายการเปลี่ยนศาสนาโดยต้องขออนุญาตจากทางการ
3. กฎหมายการมีคู่สมรสเพียงคนเดียวรักเดียวใจเดียว
4. กฎหมายที่ห้ามหญิงชาวพุทธแต่งงานกับชายชาวมุสลิม
ทั้งนี้ด้วยการผลักดันขององค์กรคณะสงฆ์ภายใต้ชื่อว่า “องค์กรสันติภาพมาบาธา” โดยมีพระมหาเถระภัททันตะติโลกะภิวังสา เป็นประธาน และมีพระวีระธุมาร่วมด้วย
เป็นที่น่าสังเกตุบุว่าบุคคลที่เดินทางไปร่วมงานครั้งนี้ประกอบด้วยทุกภาคส่วนของประเทศ รวมถึงพระมหาเถระผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างเช่นดร.พระญาณิสสระมหาเถระ (สิตากู สยาดอว์) แห่งสำนักมหาสี สาสนยิกต่า ดารานักแสดง นักร้อง ชนเผ่าต่างๆเช่นไทยใหญ่ กะเหรียง คะฉิน สกาย ร่วมถึงผู้แทนจากองค์ชาวพุทธไทยคือนพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
การดำเนินการร่างและผลักดันกฎหมายเหล่านี้ทำด้วยความตั้งใจบริสุทธิ์ที่จะนำเสนอกฎหมายที่โปร่งใส บนพื้นฐานของความจริงสากลและธรรมเนียมปฏิบัตินานาชาติ เสร็จแล้วก็ได้นำมาทดสอบจนได้รับการยอมรับของประชาชนเพราะต้องการให้กฎหมายเป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง จึงได้รวบรวมรายชื่อพร้อมลายเซ็นต์ได้กว่า 5,000,000 คน นำเสนอต่อนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดี ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษา และลงความเห็นร่วมกันว่ากฎหมายเหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะทำร้ายศาสนาเชื้อชาติบุคคลหรือพรรคการเมืองใดๆ แต่จะเป็นสิ่งที่จะช่วยรักษาสันติภาพความกลมเกลียวของสังคมเอเซียซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา เป็นกฎหมายนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศเมียนมาและได้รับการรับรองจากรัฐสภาและประกาศใช้ในที่สุด
จับตาประเทศไทยกับกิจกรรมขึ้นป้าย “บัญญัติพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ”ทั่วประเทศ
ประชาชนชาวพุทธในประเทศไทยได้มีการเคลื่อนไหวคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์ การรณรงค์เริ่มทำกันมานานหลายปีแล้ว แต่มาเน้นหนักในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ กิจกรรมมุ่งเน้นไปที่การเรียกร้องให้ บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยขึ้นป้ายไวนิลติดตามสถานที่ต่างๆ แม้จะมีเสียงท้วงติงจากบางกลุ่ม หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์บางรูปที่เป็นห่วงถึงความหมิ่นเหม่ ไม่เหมาะสมในประเด็นเกี่ยวกับการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ ชาติพันธุ์มนุษย์ เสียจนอาจกลายเป็นผลร้ายแก่ลูกหลานในอนาคตที่ต้องเกิดมาบนโลกที่มีความแตกต่าง อันจะนำไปสู่ปัญหามืดบอดของมนุษยชาติ เช่น การล้างเผ่าพันธุ์ชาติพันธุ์ที่แตกต่าง อย่างที่เห็นเป็นข่าวกันมาในอดีตถึงปัจจุบัน เรียกว่า “ต่อต้านความชั่วอะไรสักอย่าง ด้วยความดีอะไรสักอย่างที่สูงส่งยิ่งกว่า” ซึ่งเรื่องนี้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ก็บอกว่าการติดป้ายรณรงค์ในประเทศไทยที่ทำกันอยู่นี้ไม่ได้ไปคุกคามศาสนาใด หรือล้างสมองใคร ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร สามารถทำได้
ซึ่งเรื่องนี้ ทางคณะสงฆ์และสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ก็ได้มีการศึกษาแนวทางให้การปฏิรูปคณะสงฆ์ตามที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมอบหมาย เพื่อเป็นแนวทางในตรากฎหมายปกป้องและคุ้มครองพระพุทธศาสนาต่อไป โดยที่ผ่านมาได้มีการประชุมระดมความคิดเป็นไปตามภาคต่างๆหลายครั้งแล้ว
ย้อนกลับไปยังครั้งแรกของเหตุการณ์ ที่ฝ่ายสนับสนุนและผู้คัดค้าน ได้ออกมา “ถกเถียงกันแรงๆ” ในเรื่องการเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยไว้ในรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 เมื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร 9 กันยายน 2549 ได้ลงมติไม่รับการขอแปรญัติเพื่อเพิ่มข้อความ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550