วิชา อนุสยมก โดย พระอาจารย์ รัฏฐา เมาะ ครั้งที่ 57 (อัปเดต18ก.พ.63)
วิชาอนุสยมก
บรรยายโดย พระอาจารย์ รัฏฐา เมาะ
วัดจากแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
นักเรียน (เฉพาะสมาชิก) สามารถดาวน์โหลดตำรา ได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/1aRYMJpNt_sdzCocv0wHnx9C5zSW7u_20?usp=sharing
ยมก หรือคัมภีร์ยมก หรือยมกปกรณ์ หรือยมกปกรณ์อรรถกถา หรืออรรถกถาธัมมยมก หรือมูลยมก **มีทั้งสิ้น 10 หลักธรรม ได้ถูกรจนาขึ้นโดยพระพุทธโฆสะ หรือ พระพุทธโฆษาจารย์ ( พระอรรถกถาจารย์ในนิกายเถรวาท มีชีวิตอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 10 ) อยู่ใน*พระอภิธรรมปิฎก ( ประมวลหลักธรรมและคำอธิบายเชิงวิชาการ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และบุคคลใด ๆ ทั้งสิ้น )
ยมก แปลว่า คู่ ดังนั้น ยมกปกรณ์อรรถกถา จึงเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมคำอธิบาย แจกแจงหลักธรรมให้เห็นความหมาย และขอบเขตอย่างชัดเจน โดยมีรูปแบบของการอธิบายศัพท์ และการถามตอบข้อธรรมที่มีความลึกซึ้ง มาแสดงอธิบาย (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2559)
คำอธิบาย ความหมายเพิ่มเติม:
*พระอภิธรรมปิฎก (เป็นปิฎกฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามใน “พระไตรปิฎกภาษาบาลี” (Pali Canon) ) ว่าด้วยประมวลพระพุทธพจน์ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาการ ล้วนๆ ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์ใดๆ เลย แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ ๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ ๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด ๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ ๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ ๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ ๗. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร (84000.ORG, 2545)
**หลักธรรมหลักที่นำมาอธิบายแจกแจงในคัมภีร์ยมกมีทั้งสิ้น 10 หลักธรรม คือ
- มูลยมก กล่าวถึง กุศลธรรม-อกุศลธรรม, อัพยากตธรรม (ธรรมที่ไม่ดีไม่ชั่ว) และนามธรรม (ธรรมที่เกี่ยวกับจิตใจ)
- ขันธยมก กล่าวถึง ขันธ์ 5 ส่วนประกอบของร่าง (ปัณณัตติวาร ), มีความเป็นไปเช่นไร (ปวัตติวาร), และการกำหนดรู้ในขันธ์ (ปริญญาวาร)
- อายตนะยมก กล่าวถึง อายตนะ 12 ได้แก่ ตา, หู, จมูก, ลิ้น , กาย, รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, ใจ, ธรรม
- ธาตุยมก กล่าวถึง ธาตุ 5 และยังแยกย่อยออกเป็น 18 ธาตุ คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย; รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ; ธาตุ คือ จักขุวิญญาณ, โสตวิญญาณ, ฆานวิญญาณ, ชิวหาวิญญาณ, กายวิญญาณ (ธาตุรู้ทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย); มโนธาตุ (ธาตุคือใจ), มโนวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ทางใจ), ธัมมธาตุ (ธาตุคือสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ)
- สัจจยมก กล่าวถึง อริยสัจ 4 คือ ทุกขสัจจ์ ความจริงคือทุกข์, สมุทยสัจจ์ ความจริงคือเหตุให้ทุกข์เกิด, นิโรธสัจจ์ความจริงคือความดับทุกข์, มัคคสัจจ์ ความจริงคือหนทางให้ถึงความดับทุกข์
- สังขารยมก กล่าวถึง สังขาร 3 คือ กายสังขาร (เครื่องปรุงกาย), วจีสังขาร (เครื่องปรุงวาจา) และจิตสังขาร (เครื่องปรุงจิต)
- อนุสสัยยมก กล่าวถึง อนุสัย หรือ กิเลสอันนอนเนื่องด้วยในสันดาน ในคัมภีร์ยมก แจกแจงออกเป็น 7 วาระ คือ 1.) อนุสยวาร วาระว่าด้วยกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน 2). สานุสยวาร วาระว่าด้วยบุคคลผู้มีอนุสย 3.) ปชหนวาร วาระว่าด้วยการละ 4). ปริญญาวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้ 5). ปหีนวาร วาระว่าด้วยอนุสัยที่บุคคลละได้แล้ว 6). อุปปัชชนวาร วาระว่าด้วยการเกิดขึ้น 7.) ธาตุวาร วาระว่าด้วยธาตุ คือผู้เกิดในธาตุไหน
- จิตตยมก กล่าวถึง ลักษณะของ จิต และความเป็นไปของจิต
- ธัมมยมก กล่าวถึง ธรรมเป็นคู่คือธรรม ว่าด้วย กุศล อกุศล อัพยากฤต และแจกแจงบทอธิบายหลักโดยรวม (นิทเทส), แจกแจงความเป็นไปของธรรมต่างๆ ( ปวัตติวาร) และว่าด้วยการทำให้เกิดของธรรมต่างๆ (ภาวนาวาร)
- อินทรียยมก กล่าวถึง ธรรมเป็นคู่คืออินทรีย์ ได้แก่ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ประกอบด้วยอินทรีย์ 22 อันได้แก่ 1.) จักขุนทรีย์ ได้แก่ ความเป็นใหญ่ในประสาทตา 2.) โสตินทรีย์ การได้ยินเสียง 3.) ฆานินทรีย์ การรู้กลิ่น 4.) ชิวหินทรีย์ การรู้รส 5.) กายินทรีย์ การสัมผัส 6 มนินทรีย์ การรับอารมณ์ 7.) อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง 8.) ปุริสินทรีย์ ความเป็นชาย 9.) ชีวิตินทรีย์ การรักษารูปและนาม 10.) สุขินทรีย์ การเสวยความสุขกาย 11.) ทุกขินทรีย์ การเสวยความทุกข์กาย 12.) โสมนัสสินทรีย์ การเสวยความสุขใจ 13.) โทมนัสสินทรีย์ ความทุกข์ใจ 14.) อุเปกขินทรีย์ การเสวยอารมณ์ เป็นกลางๆ 15.) สัทธินทรีย์ ความเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อ 16.) วิริยินทรีย์ ความเพียร 17.) สตินทรีย์ การระลึกชอบ 18.) สมาธินทรีย์ การตั้งมั่นในอารมณ์เดียว 19.) ปัญญินทรีย์ การรู้ตามความเป็นจริง 20.) อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ การรู้แจ้งอริยสัจจะ 4 ที่ตนไม่เคยรู้ 21.) อัญญินทรีย์ การรู้แจ้งอริยสัจจะ 4 ที่ตนเคยรู้ 22.) อัญญาตาวินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นผู้ปกครองในการรู้แจ้งอริยสัจจะ 4 สิ้นสุดแล้ว ดังนี้ แจกแจงอธิบายเป็น 3 ลักษณะการณ์เหมือนข้างต้น (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2559)
แหล่งอ้างอิง:
- 84000.ORG. (6 พฤษภาคม 2545). ความหมายของ พระอภิธรรมปิฎก. เข้าถึงได้จาก 84000 พระธรรมขันธ์: http://www.84000.org/tipitaka/pitaka3/
- มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์. (2552). พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล : พระอภิธรรมปิฎก ยมก ภาค 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์.
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (22 กุมภาพันธ์ 2559). ยมกปกรณ์อรรถกถา. เข้าถึงได้จาก วิกิพีเดีย: https://th.wikipedia.org/wiki/ยมก
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.
- Wikipedia, the free encyclopedia. (2019, October 16). Abhidhamma Piṭaka. Retrieved from Wikipedia: https://en.wikipedia.org/wiki/Abhidhamma_Pi%E1%B9%ADaka