นิทรรศการพระไตรปิฎกนานาชาติ ความน่าอัศจรรย์ ๘ ประการ ของพระไตรปิฎก ณ ติปิฏกสิกขาลัย

พระครูวรปัญญาคุณ (วรวุฒิ วรปญฺโญ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และเจ้าคณะ ๒๕ เป็นประธานในพิธีเปิด ใน นิทรรศการพระไตรปิฎกนานาชาติ ณ ติปิฎกสิกขาลัย วัดจากแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๓

พระครูวรปัญญาคุณ (วรวุฒิ วรปญฺโญ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และเจ้าคณะ ๒๕
ภาพ: พระครูวรปัญญาคุณ (วรวุฒิ วรปญฺโญ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และเจ้าคณะ ๒๕ ประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ “ความอัศจรรย์ของพระไตรปิฎก” ๑๓ กันยายน ๒๕๖๓ วัดจากแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

นิทรรศการพระไตรปิฎกนานาชาติ

ในโอกาสอันมงคลนี้ ท่านอาจารย์พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง ได้กล่าวถึง ความน่าอัศจรรย์ ของ พระไตรปิฎก เนื่องในพิธีเปิด นิทรรศการพระไตรปิฎกนานาชาติ ระหว่างพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารเรียน ติปิฏกสิกขาลัย วัดจากแดง เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๓ ความว่า:

เจริญสุขเจริญพรญาติโยม สาธุชนทุกท่าน นิทรรศการพระไตรปิฎกนานาชาติ ณ ติปิฏกสิกขาลัย ถนนเพชรหึงษ์ซอยที่ ๑๐ ที่วัดจากแดง ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หวังว่าทุกท่านจะเดินทางเข้ามาทัศนานุตริยะการเห็นอันยอดเยี่ยม คือ เห็นพระธรรมคำสั่งสอน ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะความน่าอัศจรรย์ ของ พระไตรปิฎก มีความน่าอัศจรรย์อย่างไร ทางติปิฎกสิกขาลัย ได้จัดนิทรรศการขึ้นในพื้นที่วัดจากแดง เพื่อให้ผู้เข้าชม ได้เห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก เพื่อให้รู้จักบ้านของตัวเรา แล้วเข้าไปในบ้านของเรา ค้นหา สมบัติทั้ง มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ สุดท้ายค้นหาให้เจอ คือ นิพพานสมบัติ จึงขอเรียนเชิญเจริญพรพุทธศาสนิกชนทุกท่าน มาร่วมกันค้นหาสมบัติทั้ง ๓ ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก

นิทรรศการพระไตรปิฎกนานาชาติ

ความอัศจรรย์ของมหาสมุทร ๘ ประการ 

 ในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า ปหาราทสูตร ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ตรัสกับอสูร ชื่อว่า “ปหาราทะ” หรือ ท้าวปหาราทะจอมอสูร ว่า ดูก่อน ปหาราทะ ในมหาสมุทรมีสิ่งอันใดที่น่าจูงใจ เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจ เป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์ แลทำให้พวกอสูรทั้งหลาย พากันยินดีในมหาสมุทร ท้าวปหาราทะจอมอสูรจึงได้กราบทูลองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาสมุทรมีความน่าอัศจรรย์ ๘ ประการ”

  • ประการแรก คือ เป็นมหาสมุทรที่ลาดลึกโดยลำดับ  ไม่ลึกแบบโกรกชัน 
  • ประการที่สอง มหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง
  • ความน่าอัศจรรย์ข้อที่ ๓ มหาสมุทรจะไม่เก็บซากศพไว้ในมหาสมุทร จะซัดขึ้นฝั่งทั้งหมด 
  • ข้อที่ ๔ มหาสมุทรมาจากแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำคงคาเป็นต้น เมื่อไหลลงสู่ทะเล เรียกว่า มหาสมุทรทั้งสิ้น
  • ความน่าอัศจรรย์ข้อที่ ๕ คือ ฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้า น้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำต่าง ๆ จะไหลมามากเพียงใดก็ตาม ก็จะไม่ทำให้มหาสมุทรเต็ม หรือพร่องลงได้
  • ความน่าอัศจรรย์ข้อที่ ๖ มหาสมุทรจะที่แห่งใดก็ตาม จะมีรสเดียว คือ รสเค็ม
  • ความอัศจรรย์ข้อที่ ๗ ก็คือในมหาสมุทรนั้น เต็มไปด้วยรัตนะต่าง ๆ รัตนในที่นี้ เช่น แก้วมุกดา แก้วมณีแก้วไพฑูรย์ เป็นต้น แม้แต่แก้วเจ็ดประการ ก็อยู่ในมหาสมุทร เป็นความน่าอัศจรรย์
  • และความน่าอัศจรรย์ ข้อสุดท้าย มหาสมุทร เป็นที่อยู่ของปลาใหญ่จำนวนมากมาย เช่น ปลาติมิ ปลาติ มิงคละ ปลาติมิติมิงคละ เป็นต้น หรือเป็นที่อยู่ของอสูรพญานาคที่มีลำตัวยาว ๑๐๐ ยอด, ๒๐๐ ยอด, ๓๐๐ ยอด เป็นต้น นั่นคือความน่าอัศจรรย์ของมหาสมุทร

นิทรรศการพระไตรปิฎกนานาชาติ

ความน่าอัศจรรย์ ๘ ประการ ของพระไตรปิฎก

เมื่อท้าวปหาราทะจอมอสูร ได้กราบทูลองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบลงแล้ว พระองค์ก็ตรัสว่า  “ดูก่อนอสูร ในศาสนาของเราก็มีความน่าอัศจรรย์ ๘ ประการเช่นเดียวกันกับมหาสมุทร”

  • ความน่าอัศจรรย์ข้อแรก ก็คือ พระธรรมคำสั่งสอนของเรา เป็น อนุปุพพสิกขา  มีความลาดลึกไปโดยลำดับ ไม่ได้ลึกแบบโกรกชัน  ถ้าใครเข้ามาศึกษา จะพบความลึกซึ้ง ๔ ประการ คือ ลึกด้วยเหตุ ลึกโดยผล ลึกโดยการรู้แจ้งแทงตลอด ลึกโดยการแสดง แต่ความลึกนั้น เป็นความลาดลึกไปตามลำดับ ไม่ลึกแบบโกรกชัน
  • ประการที่สอง สาวกทั้งหลายของเรา ไม่ละเมิดสิกขาบทที่บัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เหมือนมหาสมุทรไม่ล้นฝั่ง 
  • ความน่าอัศจรรย์ประการที่สาม ผู้ประพฤติธรรมในพระศาสนา จะไม่ร่วมกับผู้ทุศีล และจะขับไล่ให้ไกลจากสงฆ์ ถ้าเป็นพระที่มีความประพฤติไม่ดี หรือที่เรียกว่าอลัชชี หรือผู้ไม่มีความละอาย ก็จะอยู่ในพระศาสนาไม่ได้ เพื่อนพรหมจารีก็จะขับออกไป เหมือนมหาสมุทรซัดซากศพขึ้นสู่ฝั่ง
  • ประการที่ ๔ พระศาสนา มีคำสอนที่เป็นคำสอนอย่างเดียวกัน ก็คือ คนที่เข้ามาบวช จะมาจากวรรณะ ๔ ชนชั้น  กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ สูตร เมื่อเข้ามาอยู่ในพระศาสนาแล้ว ก็จะเป็นสมณะศากยบุตรเหมือนกันหมด
  • ความน่าอัศจรรย์ข้อที่ ๕ ก็คือ ในพระศาสนาของเรา แม้จะมีภิกษุจำนวนมาก ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้
  • ประการต่อมาพระศาสนาของเรา มีรสเดียว คือ วิมุตติรส รสแห่งความหลุดพ้น 
  • พระศาสนาของเรานี้ มีรัตนในพระศาสนามาก มีหลายชนิด จะมี สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ หรือที่เรารู้จักในนามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ 
  • และสุดท้าย ก็คือ พระศาสนาเป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ ในที่นี้ก็คือสัตว์ผู้ประเสริฐได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ และผู้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นมหาสัตตะ คือ สัตว์ที่ยิ่งใหญ่ ผู้ที่ยิ่งใหญ่อยู่ในพระศาสนาของเรา นั่นคือความน่าอัศจรรย์ ๘ ประการ 

เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านจงดูความน่าอัศจรรย์ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก แล้วก็น้อมนำเอาความน่าอัศจรรย์นั้นเข้ามาสู่ตัวเรา เพื่อให้เราเป็นบุคคลพิเศษ เป็นบุคคลผู้น่าอัศจรรย์ ดังที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้โดยทั่วหน้ากันทุกท่าน ทุกคน เทอญ ขอเจริญพร

วัดจากแดง เดินทาง แผนที่

แผนที่แสดงที่ตั้ง นิทรรศการพระไตรปิฎกนานาชาติ ติปิฏกสิกขาลัย Google Map


โพสที่เกี่ยวข้อง:


คำสืบค้น: เปรียบ อุปมาอุปไมย สังเกต น่าสนใจ อัศจรรย์ มหัศจรรย์ มหาสมุทร ทะเล น้ำทะเล สิ่งที่น่าอัศจรรย์ของมหาสมุทร ธรรมอันน่าอัศจรรย์ มหาสมุทเทอัฏฐัจฉริยะ ธรรมอันน่าอัศจรรย์ของพระธรรมวินัย ปหาราทสูตร ท้าวปหาราทะจอมอสูร ท้าวปหาราทะจอมอสูร พระพุทธกิจ พรรษาที่ ๑๒ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย กุลสูตร อินทกสูตร คัมภีร์ขุททกนิกาย ทักขิณาวิภังคสูตร หอพระไตรปิฎกนานาชาติ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พระไตรปิฎกสากล อาคารเรียน พระไตรปิฎก 

นิทรรศการพระไตรปิฎกนานาชาติ ความน่าอัศจรรย์ ๘ ประการ ของพระไตรปิฎก ณ ติปิฏกสิกขาลัย