
พระผู้ทรงพระไตรปิฎก ติปิฏกธร : มหัศจรรย์ความทรงจำ ของมนุษย์ที่เป็นอันดับหนึ่งของโลก
พระผู้ทรงพระไตรปิฎก ติปิฏกธร (อ่านว่า: ติ-ปิ-ตะ-กะ-ธะ-ระ) มหัศจรรย์ความทรงจำของมนุษย์ที่เป็นอันดับหนึ่งของโลก บทความโดย บรรณาธิการบทความ คุณพนิตา อังจันทรเพ็ญ พิมพ์เผยแพร่ใน วารสารโพธิยาลัย ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ ประจำเดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ หน้า ๑๗-๒๒
หนังสือที่รวบรวมสถิติความเป็นที่หนึ่งของโลกในทุกสิ่ง เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Guinness Book of Records โดยในปี ค.ศ. ๑๙๘๕ ปรากฏสถิติหนึ่งเกี่ยวกับ ความทรงจำไว้ว่า มิงกวนสยาด่อพยาจี พระภัททันตะ วิจิตตสาราภิวังสะ พระภิกษุในพระพุทธศาสนาจากประเทศเมียนม่าร์ สามารถทรงจำพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ได้ทั้ง ๓ ปิฎก เป็นหนังสือ ประมาณ ๑๖,๐๐๐ หน้า ถือว่าเป็นผู้ครองสถิติ ความสามารถ ในการทรงจำ เป็นอันดับ ๑ ของโลก มหัศจรรย์ความทรงจำของมนุษย์ที่เป็นอันดับหนึ่งของโลก

หลวงพ่อมิงกวนสยาด่อ ไม่ได้เป็นพระรูปเดียว ที่สามารถทรงจำพระไตรปิฎกได้ มีพระรุ่นหลัง ๆ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนี้ต่อมาอีกถึง ๑๓ รูป แต่ยังไม่มีใครสามารถสอบได้โดยใช้เวลาน้อย คือ เพียง ๔ ปี เท่ากับหลวงพ่อมิงกวนสยาด่อ ผู้เป็นพระผู้ทรงพระไตรปิฎกรูปแรก หากผู้อ่านสนใจอยากได้ยินเสียงท่องพระไตรปิฎกของ หลวงพ่อมิงกวนสยาด่อ สามารถ search หาฟังได้ทางอินเตอร์เน็ต จะมีพระสูตรต่าง ๆ หลายพระสูตรที่หลวงพ่อสาธยายเอาไว้ และได้รับการบันทึกเสียงเก็บรักษาไว้อย่างดี เสียงดัง ฟังชัดเจน ราวกับว่าเพิ่งอัดมาไม่นานนี้เอง การท่องได้นั้นจะเรียบลื่นกว่าอ่านมากนัก เพราะสิ่งที่ท่องนั้นมาจากสมอง มาจากภายใน มีความต่อเนื่องและไพเราะมาก จากการที่ไม่มีเสียงสะดุดเลย ปัญหาคือ หากใครไม่ได้ศึกษาภาษาบาลีเพียงพอ คงฟังไม่รู้เรื่อง เพราะเสียงท่องนั้นเป็นภาษาบาลีล้วน ๆ
เนื่องจากหลวงพ่อมิงกวนสยาด่อ เป็นพระผู้ทรงไตรปิฎก หรือ พระติปิฏกธรรูปแรก ท่านจึงมีบทบาทสำคัญในการทำฉัฏฐสังคายนาที่ประเทศพม่า (ชื่อในครั้งนั้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙) โดยมีพระสงฆ์ระดับอาจารย์ของพม่า และพระสงฆ์ผู้ทรงความรู้จากประเทศที่เป็นเถรวาท เช่นเดียวกัน คือ ประเทศไทย และประเทศศรีลังกา ได้มาเข้าร่วมทำสังคายนาด้วย
ในการทำสังคายนานั้นจะมีการสอบทานข้อความในพระไตรปิฎกว่า ข้อความนี้อยู่ที่ใด ด้วยการปุจฉา-วิสัชนา โดยพระสงฆ์ระดับสยาด่อ เช่น มหาสีสยาดอ และผู้ที่บอกว่า ข้อที่สงสัยนั้น คืออะไร อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มใด คือหลวงพ่อมิงกวนสยาด่อ ซึ่งท่านสามารถทำหน้าที่วิสัชนาได้เป็นอย่างดี ปรากฏเป็นที่ตื่นตะลึงและเป็นที่ชื่นชมโสมนัส ในความสามารถอันเป็นอัศจรรย์นั้น สมศักดิ์ศรีของความเป็นพระผู้ทรงพระไตรปิฎก
เหตุการณ์หนึ่งที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง ในเรื่องพระผู้ทรงพระไตรปิฎก ที่เดินทางมาเยือนไทยพร้อมกันถึง ๘ รูป เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ วัดจากแดง โดย วัดจากแดง ได้นิมนต์พระผู้ทรงพระไตรปิฎกทั้งหมด ที่ยังมีชีวิตอยู่ จากประเทศเมียนม่าร์ มาให้ญาติโยมคนไทย และคนเมียนม่าร์ได้ชื่นชมความมหัศจรรย์นี้ ซึ่งไม่มีในศาสนาใด ๆ ในโลกนี้ และทางวัดฯ ได้นิมนต์มาทั้งหมดเช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะพระผู้ทรงพระไตรปิฎกทุกท่าน ต่างก็มีภารกิจมากมายในประเทศของท่าน ผู้เขียนได้ทราบข่าวนี้ มีหรือจะพลาดไม่ไปดูไปฟังให้เห็นกับตา ให้ได้ยินกับหูว่า พระผู้ทรงพระไตรปิฎกแต่ละรูป หน้าตาเป็นอย่างไร ท่านจะพูดอะไรบ้าง
ท้องฟ้าวันนั้นสดใสเหมือนเป็นใจให้เหตุการณ์นี้ผ่านไปด้วยดีเมื่อไปถึงภายในวัด ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบสี่โมงเย็นแล้ว จริงๆ แล้วพิธีต้อนรับ เริ่มจัดมาตั้งแต่ช่วงเช้า มีการบรรยายหัวข้อที่เกี่ยวกับเรื่องพระไตรปิฎก ให้ญาติโยมฟัง เป็นการปูพื้นก่อนพบตัวจริง เสียงจริง ผู้เขียนไม่สะดวกที่จะมาช่วงเช้า เลยจำใจต้องพลาดไป ภาพที่เห็นเมื่อเดินเข้าเขตวัด คือหมู่ชนชาวพม่าแต่งกายประจำชาติอย่างเรียบร้อย หญิงนุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า ใส่เสื้อแขนกระบอก ตกแต่งผมด้วยดอกไม้เหมือนอย่างที่เราเคยเห็นภาพ ออง ซาน ซูจี แต่งกายแบบนี้ประดับผมแบบนี้ อยู่ตลอดเวลาอย่างไรอย่างนั้น ฝ่ายผู้ชายโพกหัว ใส่เสื้อแขนยาว นุ่งโสร่ง ยืนเข้าแถวรอรับพระผู้ทรงพระไตรปิฎก ซึ่งเดินขึ้นไปบนกุฏิ รวมเวลาผ่านไปสักพักพระผู้ทรงพระไตรปิฎก ๗ รูป (ตามกำหนดการว่าจะมาทั้งหมด ๘ รูป ขาดไป ๑ รูป บังเอิญท่านติดกิจนิมนต์ ที่รับไว้ก่อนหน้านี้ทำให้มาไม่ได้)
พุทธศาสนิกชนชาวเมียนม่าร์ทุกคนถอดรองเท้า ทำให้พวกเราชาวไทยต้องถอดรองเท้าออกด้วย เรื่องถอดรองเท้าสำคัญมากในประเทศเมียนม่าร์ พวกเขาจะไม่อยู่สูงกว่าพระ การใส่รองเท้า ทำให้เราสูงกว่าพระ นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมห้ามสวมรองเท้าเดินในพุทธสถานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัด หรือพระเจดีย์ทั้งหลาย
พระผู้ทรงพระไตรปิฎกทุกรูปจะมีผู้ถือร่มสีขาว (รัฐบาลจะจัดเจ้าหน้าที่มาทำหน้าที่นี้) สูงสามชั้น ติดตามมาด้วยทุกรูป เพราะเป็นสัญลักษณ์ว่า ท่านผู้นั้นคือพระผู้ทรงพระไตรปิฎก และเมื่อท่านนั่งลง ณ ที่ใด ร่มนี้จะวางไว้ข้าง ๆ ด้วย ระหว่างที่ท่านดำเนินไปที่ศาลาการเปรียญหลังใหม่ของวัดชื่อ ศาลาสุธัมมา อุบาสก อุบาสิกา ชาวเมียนม่าร์และคนไทยที่อยู่ในที่นั้น ต่างพนมมือกันอย่างพร้อมเพรียง และพูดอะไรบางอย่างที่ฟังออก ภาษาบาลี หรือ ภาษาพม่าก็สุดจะเดา เสียงสวดดังกระหึ่มไปทั่วทั้งวัดเป็นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดศรัทธาน่าเลื่อมใสอย่างยิ่ง เมื่อถึงศาลา มีพระสงฆ์รอรับ แล้วอัญเชิญให้พระผู้ทรงพระไตรปิฎกทั้ง ๗ รูป นั่งประจำที่ที่ทางวัดจัดไว้
พระอาจารย์มหาไพโรจน์ ญาณกุสโล ธรรมาจริยะ วินัยปิฎกธร ปาฬิปารคู เป็นผู้กล่าวต้อนรับและแนะนำวัดจากแดง ด้วยภาษาพม่า พระอาจารย์มหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร ธรรมาจริยะ รองเจ้าอาวาสในขณะนั้น ก็กล่าวแนะนำพระผู้ทรงพระไตรปิฎกแต่ละรูป ทำให้ทราบประวัติความเป็นมา ของการทรงจำพระไตรปิฎก ยาวนานกว่า ๖๖ ปีแล้ว มีพระผู้ทรงพระไตรปิฎกทั้งหมด ๑๓ รูป มรณภาพไปแล้ว ๕ เหลือ ๘ รูป การสอบทรงจำพระไตรปิฎก จัดในเดือนธันวาคมของทุกปี โดยจะมีพระมาสมัครสอบกี่รูปก็ได้ สอบวันละ ๘ ชั่วโมง ให้พักได้ คือแต่ละชั่วโมงให้พัก ๑๕ นาที เปิดให้สาธารณชนเข้าฟังการสอบได้ โดยจะมาเชียร์ หรือมาดู มาสังเกตการณ์ได้ตามอัธยาศัย
เนื่องจากพระไตรปิฎกมีความยาวมาก คือ ประมาณ ๑๖,๐๐๐ หน้า ทำให้ไม่สามารถสอบได้เสร็จภายในปีเดียว พระผู้ทรงพระไตรปิฎกที่สามารถสอบได้เร็วที่สุด คือ หลวงพ่อมิงกวนสยาด่อ ชื่อเสียงกิตติคุณของท่านถูกบันทึกไว้ใน Guinness Book of Records ว่า เป็นผู้ที่มีความทรงจำอันเป็นเลิศที่สุดในโลก สอบผ่านได้ตำแหน่งติปิฏกธร (ติ-ปิ-ตะ-กะ-ธะ-ระ) ท่านเป็นผู้ที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในการสอบ ๔ ปี นอกจากนั้น ก็จะมี ๖ ปีไปจน ๒๖ ปีกว่าจะสอบผ่านได้
ทำไมท่านจึงต้องการเป็นพระผู้ทรงพระไตรปิฎก ?
มีการถามปัญหา คำถามหนึ่งน่าสนใจมาก คือ ทำไมท่านจึงต้องการเป็นพระผู้ทรงพระไตรปิฎก รูปหนึ่งตอบว่า พระไตรปิฎกคือที่รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าพระในฐานะพุทธสาวกควร (ต้องช่วยกัน) ทรงจำคำสอนอยู่แล้ว สองท่านต้องการทดสอบปุพเพกตปุญญตา (บุญที่เคยทำไว้ในกาลก่อน) ของท่านว่า มีมากพอที่จะให้ท่านทำได้สำเร็จหรือไม่
คำตอบนี้ฟังแล้วชอบมาก เพราะรู้สึกเสมอว่า คนเราไม่ได้เกิดมาเพียงชาติเดียว เราต้องสั่งสมบางสิ่งบางอย่างติดตัวมา ถ้าไม่เคยมีความเพียรเช่นนี้มาก่อน ย่อมทำสิ่งยากยิ่งอย่างนี้ไม่ได้ อย่างแน่นอน การทรงจำหนังสือ ๑๖,๐๐๐ หน้า ไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์ธรรมดาสามัญจะทำได้เลย ต้องมีความทรงจำที่ดีเยี่ยม มีความเพียรสูงสุด และมีปุพเพกตปุญญตานี่แหละจึงจะทำได้สำเร็จ
ท่านเล่าว่า มีพระบางรูปท่องได้ถึงปิฎกที่สามแล้ว แต่ไม่สามารถท่องให้จบหมดได้สูญเสียความสามารถในการทรงจำไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็หมดโอกาสที่จะเป็นพระผู้ทรงพระไตรปิฎกไปเลย ข้อที่สาม ท่านบอกว่าในเมื่อทรงจำพระไตรปิฎกได้แล้ว ย่อมนำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย ได้สะดวกมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเทศน์หรือการสอน พระผู้ทรงพระไตรปิฎกมีกิจต้องเทศน์ต้องสอนอยู่เสมอ แทบจะเรียกได้ว่า เป็นงานหลักที่ท่านทำทุกวัน
การท่องพระไตรปิฎกสัมพันธ์กับการปฏิบัติอย่างไร
อีกคำถามที่น่าสนใจ คือ การท่องพระไตรปิฎกสัมพันธ์กับการปฏิบัติอย่างไร พระผู้ทรงพระไตรปิฎกรูปหนึ่งตอบว่า การทรงจำพระวินัยได้หมด ทำให้สามารถดำรงรักษาศีลได้ อย่างไม่ผิดเพี้ยน การทรงจำพระสูตร ช่วยให้การปฏิบัติทางจิตภาวนาได้ดีและการทรงจำพระอภิธรรมปิฎก ช่วยให้เจริญวิปัสสนาได้ดี (เพราะรู้องค์ธรรมทั้งหมดอย่างละเอียด จนสามารถนำมาพิจารณาในการปฏิบัติ)
จะสร้างพระผู้ทรงพระไตรปิฎกให้เกิดขึ้นได้อีกอย่างไร ?
อีกคำถามหนึ่ง คือ ท่านคิดว่าจะสร้างพระผู้ทรงพระไตรปิฎกให้เกิดขึ้นได้อีกอย่างไร พระผู้ทรงพระไตรปิฎกรูปหนึ่งตอบว่า ท่านเองมีเทคนิคในการทรงจำของท่าน ซึ่งแต่ละรูปก็จะมีเทคนิคต่าง ๆ กัน เช่น การผูกแต่ละส่วนเป็นคำกลอน เพื่อจะได้ท่องง่ายขึ้น เป็นต้น และท่านก็ได้ถ่ายทอดเทคนิคการทรงจำพระไตรปิฎกให้กับลูกศิษย์ ๓๒๐ รูป มีประมาณยี่สิบรูปท่องได้ รูปหนึ่ง กำลังจะท่องจบสามปิฎก มีคำถามอื่นอีกที่จำได้ไม่ดีนัก เลยไม่กล้าเล่า กลัวจะเล่าผิด เอาเป็นว่า ท่านตอบคำถามได้ตามสมควร ตอนท้ายพิธีมีการสวดพระวินัยให้ญาติโยมฟังและแผ่เมตตา ตอนที่ท่านสวดพระวินัยนั้น ไพเราะมาก ผู้เขียนอธิษฐานในใจว่า จากการที่ข้าพเจ้า ได้มีส่วนร่วมในวาระอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ขอความมีสิริมงคลจงเกิดแก่ข้าพเจ้า ท่องซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลังสวดจบ เป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นท่านเจ้าอาวาสวัดจากแดง (ในขณะนั้น) พระครูธรรมธรสุมนต์ นนฺทิโก ได้ อนุญาตให้ญาติโยมบูชาสักการะและทำบุญกับพระผู้ทรงพระไตรปิฎกทั้ง ๗ รูป ตามอัธยาศัย
ความเห็นผู้เขียนบทความนี้
ผู้เขียนเห็นว่า ปล่อยให้ชาวเมียนม่าร์ทั้งหลายได้ฟังเทศน์ฟังธรรมภาษาของเขาให้ชื่นใจว่า แม้มาอยู่ต่างแดน ก็มีโอกาสได้พบพระผู้ทรงพระไตรปิฎก ส่วนผู้เขียนเองนั้นรู้สึกอิ่มใจ ชื่นใจ อย่างยากจะอธิบาย นึกว่านี่เป็นบุญของเราด้วยที่ได้มาอยู่ในสถานที่นั้น ได้มาเป็นประจักษ์พยานในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่บังเกิดมีขึ้นในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ซึ่งยังไม่มีศาสนิกในศาสนาใดทำได้ ที่จะท่องพระไตรปิฎก ทั้ง ๓ ปิฎกได้สำเร็จ โดยไม่มีผิดเลยสักตัวเดียว นับเป็นบุญตา บุญใจ บุญหู บุญชีวิต และน่าจะเป็นปุพเพกตปุญญตาของเรา ที่ทำให้ได้มีโอกาสมาพบเจอ ประสบการณ์น่าประทับใจอย่างที่สุด อันจะดำรงคงอยู่ตลอดไปในความทรงจำ
สิ่งหนึ่งที่ได้จากการนี้ คือ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์มากขึ้นว่า หากประสงค์จะทำสิ่งใด ก็สามารถทำได้ หากตั้งใจจริง ไม่สำเร็จในชาตินี้ ก็จะสำเร็จได้ในอนาคตกาลข้างหน้า หากประสงค์พระนิพพาน ย่อมจะได้พระนิพพาน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ แม้จะยากเท่าใดก็ไม่ไกลเกินกว่าศักยภาพของมนุษย์ผู้ตั้งใจจริง
หมายเหตุ
พระผู้ทรงพระไตรปิฎกมีใครบ้าง มีประวัติความเป็นมาอย่างไร อ่านได้จาก หนังสือเล่มน้อย ชื่อ ติปิฏกธร แปลโดย พระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโล ภายในหนังสือจะมีรูป เรื่องราวของ พระผู้ทรงพระไตรปิฎก แต่ละรูป พร้อมทั้งความเป็นมาและวิธีการสอบ
การอ้างอิง: Cite a Journal Online in APA 8th Edition
- พนิตา อังจันทรเพ็ญ. (2558, กรกฎาคม). พระผู้ทรงพระไตรปิฎก (ติปิฏกธร) : พระผู้ทรงพระไตรปิฎกมหัศจรรย์ความทรงจำของมนุษย์ที่เป็นอันดับหนึ่งของโลก. วารสารโพธิยาลัย, 2(1), 17-22. https://watchakdaeng.com/2015/วารสารโพธิยาลัย258/
โพสที่เกี่ยวข้อง:
- ทำไมต้องดูงานพระไตรปิฎกศึกษาที่พม่า
- การศึกษาและสืบสานพระไตรปิฎก หอพระไตรปิฎกนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ๑ ก.พ. ๖๓ ร่วมฟังโอวาทธรรม ผู้ทรงพระไตรปิฏก ๙ รูป จากสหภาพเมียนมาร์
- วารสารโพธิยาลัย ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม ๒๕๕๘)
- มุทิตาสักการะ สะยาดอผู้ทรงจำพระไตรปิฎก จากสหภาพเมียนมาร์ ๒๕๕๙
- มุทิตาสักการะ สะยาดอ พระผู้ทรงจำพระไตรปิฎกรวม ๘ รูป จากสหภาพเมียนมาร์ ๒๕๕๗
คำสำคัญ: พิธี ต้อนรับ ครั้งแรก ประเทศไทย พระเถระ สะยาดอ มีงกุน สยาดอ เมงกุนสียาดอ พระอาจารย์ภัททันตะ วิจิตตะ บุรุษอาชาไนย ปฐมเมิงกุน สยาดอ เมืองสะกาย มุทิตาสักการะ เมียนมา เมียนมาร์ สหภาพเมียนมาร์ พระวิจิตตสาราภิวังสะ พระพม่าทรงจำพระไตรปิฎก พระพม่า พระสงฆ์พม่า พระภิกษุผู้ทรงจำพระไตรปิฎก พระผู้จดจำพระไตรปิฎก จดจำ จดจำพระไตรปิฎก พระทรงจำ พระผู้ทรงจำ พระผู้ทรงจำพระไตรปิฎก ผู้ทรงจำ ผู้ทรงธรรม ผู้ทรงพระไตรปิฎก ท่องพระไตรปิฎก พระพม่าทรงจำพระไตรปิฎก พระพม่า พระสงฆ์พม่า ท่องพระไตรปิฎก วิธีจำพระไตรปิฎก ชำนาญ พระไตรปิฎก พระภิกษุที่สามารถทรงจำพระไตรปิฎกได้ เตปิฎกธรธรรมภัณฑาคาริกะ พัดงา สัญลักษณ์ พระไตรปิฎกธร ท่องจำได้ครบทุกปิฎก ท่องจำพระวินัยปิฎก พระสุตันตปิฎก พระอภิธรรรม การศึกษาสงฆ์พม่า ในประเทศไทย สนทนา สนทนาธรรม วัด วัดจากแดง วัดจกแดง กินเนสส์เวิลด์เร็กคอร์ด อันดับหนึ่งของโลก