ทำไมต้องดูงานพระไตรปิฎกศึกษาที่พม่า
พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร. (2563). ทำไมต้องดูงานพระไตรปิฎกศึกษาที่พม่า. วารสารโพธิยาลัย, 4(46), 3-12. ประเทศไทย ศรีลังกา พม่า ล้วนเป็นพุทธเถรวาทเหมือนกัน แต่ในเรื่องพระไตรปิฎกศึกษาทำไมเราควรต้องไปดูงานพม่า เอาแบบอย่างของเขามาศึกษา เป็นแนวทางของเรา ก็เพราะพม่ามีปริยัติเข้มแข็ง ปฏิบัติเข้มแข็ง และการเผยแผ่ก็เข้มแข็ง แล้วทำไมถึงเข้มแข็งได้ ? ก็เพราะในการสร้างประเทศนั้น เขาเน้นสร้างคน สร้างพระมีชีวิต ด้วยการให้การศึกษา เพื่อสร้างพระและฆราวาสให้มีองค์ความรู้ด้าน ปริยัติ ด้านปฏิบัติ การให้การศึกษานี้เป็นหน้าที่ ของพระ ส่วนการสร้างถาวรวัตถุภายในวัดนั้น เป็นหน้าที่ของญาติโยม
การจัดการเรียนการสอนพระไตรปิฎกในพม่า
พม่าจัดการเรียนการสอนพระไตรปิฎก ด้วยหลักสูตร ๒ ระดับ ๔ รูปแบบ ในการสร้างคนสร้างพระให้มีความรู้ด้านปริยัติ และปฏิบัตินั้น พม่ายังมีการเรียนพระไตรปิฎก ซึ่งจัดการสอนพระไตรปิฎกครบทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ โดยแบ่งการเรียนเป็น ๒ ระดับ คือ (๑) ขั้นหลักสูตรปูพื้นฐานเข้าสู่พระไตรปิฎก เรียนตั้งแต่ขั้นมูลจนถึงขั้นธัมมาจริยะใช้เวลา ๕ – ๘ ปี (๒) ขั้นหลักสูตรเนื้อหาพระไตรปิฎก เรียนต่อจากหลักสูตรพื้นฐานอีก ๑๕ ปี จนจบ เนื้อหาพระไตรปิฎกทั้งหมด การเรียนการสอนพระไตรปิฎก ยังจัดเป็นหลายรูปแบบ คือ (๑) การเรียนสำหรับพระ (๒) การเรียนสำหรับญาติโยม (๓) การเรียนสำหรับพระ ญาติโยม และแม่ชี รวมกัน และ (๔) การเรียนสำหรับเด็กและเยาวชน
ดังนั้น ในประเด็นด้านปริยัติของพม่า จึงมีภาพรวมที่ชัดเจนว่า ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ของพระไตรปิฎกนั้น ยังมีการเรียน มีการทรงจำ มีการนำเสนออย่างชัดเจน และพระที่สามารถทรงจำพระไตรปิฎกทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พร้อมทั้งความเข้าใจนั้น ยังมี และมีเป็นจำนวน ไม่น้อย
ภาพรวมหลักสูตรการเรียนการสอน
การเรียนการสอน ได้แบ่งเป็นหลักสูตรต่าง ๆ ดังนี้
– หลักสูตร ๓ เดือน (เรียนบาลี พอแปลได้ในเบื้องต้น)
– หลักสูตร ๖ เดือน (เรียนไวยากรณ์เล็ก แปลธรรมบท และอภิธัมมัตถสังคหะ)
– หลักสูตร ๑ ปี (เรียนไวยากรณ์ชั้นสูง แปลธรรมบทและอภิธัมมัตถสังคหะ ฎีกา) ในหลักสูตรรายปีนั้น ช่วงแรกๆ ให้เรียนแบบง่ายสุดไปก่อน เช่น ไวยากรณ์เรียนแบบง่าย ๆ ๗ วัน สำหรับไวยากรณ์ เขาจะมีหลักสูตร ๗ วัน ๑ เดือน ๓ เดือน และ ๖ เดือน
การบูรณาการหลักสูตรของสถาบันการศึกษาในพม่า
หลักสูตรบูรณาการของระดับต้นปูพื้นฐานอย่างแน่นหนา และพรั่งพร้อมด้วยสถาบันการศึกษาคุณภาพ ในหลักสูตร ๒ ระดับของพม่านั้น ที่สำคัญ คือ ก่อนจะไปถึงระดับพระไตรปิฎกนั้น ได้มีการให้การศึกษาในระดับปูพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ พระไตรปิฎกกันอย่างกว้างขวาง สถาบันการศึกษาในระดับปูพื้นฐานนี้มีเป็นจำนวนมาก ทั้งของรัฐบาล และของเอกชน ซึ่งต่างแข่งขันกันจัดการเรียนการสอน เพื่อให้พระมีคุณภาพด้านปริยัติ
ที่น่าสนใจคือ เขาจัดเป็นหลักสูตร บูรณาการ คือ ผู้เรียนจะได้เรียนทั้งภาษาบาลี ภาษาพม่า ถ้าเป็นพระวินัย จะได้เรียนภิกขุปาติโมกข์ และ ภิกขุนีปาติโมกข์พร้อมทั้งกังขาอรรถกถา ส่วนพระสูตร ก็จะได้เรียนธรรมบท ชาดก สีลขันธวรรค พระอภิธรรมได้เรียนอภิธัมมัตถสังคหะ พร้อมทั้งฎีกา พระธัมมสังคณี พร้อมทั้งอรรถกถา เรียนไวยากรณ์ เรียกว่าได้เรียนครอบคลุมทุกอย่าง ทั้งหมด ที่เป็นภาพรวมของพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้น เมื่อได้เรียนภาพรวมตามหลักสูตรบูรณาการนี้แล้ว พอมาเรียนต่อในระดับเจาะเนื้อหาพระไตรปิฎก ผู้เรียนก็จะสามารถ เห็นภาพรวมของพระไตรปิฎก ได้ในทันที นั่นคือ ผู้เรียนจะทราบทั้งอรรถกถา คัมภีร์ฎีกา คัมภีร์อนุฎีกา คัมภีร์โยชนา ได้รู้ทั้งหมด ขณะที่ในบ้านเรา ปกติก็ได้รู้แค่ตัวพระไตรปิฎกเท่านั้น
เทคนิคการเรียนด้วย Easy Learning ช่วยให้เรียนสำเร็จอย่างง่าย ๆ
สิ่งสำคัญในการสอนเรื่อง “ยากๆ” ให้ง่ายขึ้น นี่เป็นหัวใจของกระบวนการเรียนการสอน หลักสูตรพระไตรปิฎกของพม่า เขามีเทคนิค คือ Easy Learning การเรียนแบบ Easy Learning นี้ เขาทำกันอย่างไร ? Easy Learning เป็นเทคนิคการใช้สื่อ การเรียนการสอนที่ได้ผลดี มีใช้กันมาตั้งแต่ในอดีต และวิธีใหม่ๆ เทคนิคเหล่านี้ เช่น
– การย่อความ เอาเฉพาะสาระของประเด็น มาจัดทำให้เข้าใจภาพรวมได้ง่ายขึ้น เช่น มาทำเป็น อักษรย่อ แผนภูมิ (chart) Mind Map, PowerPoint แล้วใส่สีช่วยจำ
– นำประเด็นสาระสำคัญ มาแต่งเป็นกลอนช่วยจำ เป็นอีกเทคนิคสำหรับเนื้อหาสาระย่อ ที่ยังยาว ยังยาก หามาใส่ทำนอง จะจำได้ง่ายขึ้น เพราะบทกลอนจะไหลลื่น แล้วค่อยมาถอดแปล ภาษากลอน ให้เป็นภาษาธรรมดาอีกครั้ง
– ลำดับความยากง่ายของเนื้อหาหลักสูตร เช่น ของหลักสูตรรายปี
รูปแบบการเรียนการสอน ที่เอื้อให้เห็นองค์ธรรม นำสู่การเกิดปัญญา ๓
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ในพระ ไตรปิฎกนั้นจะมีภาษารหัส คือ แปลแล้วถอดรหัสธรรมมาด้วย อย่างเช่น นะโม ข้าพเจ้าขอนอบน้อม ด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ นะโมนี้ คือนอบน้อม ด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ ก็คือถอดรหัส และ องค์ธรรมของนะโมว่า ได้แก่มหากุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง แปลเสร็จก็ถอดรหัสหาองค์ธรรม ได้ด้วย เมื่อแปลเป็นภาษาไทย ก็จะออกมาเป็นภาษาไทยแบบเอาความ คือ แปลให้เข้าใจได้เลย หรืออาจมีแปลยกศัพท์ ก็จบแค่นี้ ในประเทศไทย มีการแปลอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แปลร้อยเรียงความ ปรกติของเรายังขาดเรื่องนี้อยู่ เป็นที่รู้กันว่า เมื่อฟังพระเทศน์จบ คนฟังบรรลุได้ แต่เหตุใด จึงได้บรรลุ ฟังแบบไหนได้บรรลุ การแปล แล้วถอดรหัสหาองค์ธรรมได้คือคำตอบว่า ทำไมเมื่อแปลเสร็จแล้ว คนฟังจึงบรรลุ
แต่ตรงนี้เราไม่มีพื้นฐาน ถ้าเรามีพื้นฐานบาลี พื้นฐานสุโพธาลังการ (คัมภีร์แสดงความไพเราะสละสลวยของสำนวนโวหารในภาษาบาลี) พื้นฐานอภิธัมมัตถสังคหะ พื้นฐานเนตติปกรณ์ (ตำราอธิบายอรรถที่ละเอียดลึกซึ้งในพระไตรปิฎก) ถ้ามีพื้นฐานเหล่านี้ แปลเสร็จ ก็ถอดรหัสธรรมได้ ก็ได้เห็นองค์ธรรม พอเห็นองค์ธรรมแล้ว ก็จะเห็นอรรถรสทั้ง ๙ ของภาษา (รสรัก ชัง ขบขัน กรุณา โกรธ กล้า กลัว แปลกใจ ศานติ) แล้วก็ดึงเข้าสู่วิมุตติรส การบรรลุจะเกิดขึ้น คือ ฟังแล้วเกิด สุตมยปัญญา คือ ความรู้ที่เกิดจากการ สดับตรับฟังเล่าเรียนมาจากผู้อื่น เกิดโยนิโสมนสิการตาม เกิดจินตามยปัญญา คือ ปัญญา ที่เกิดจากการรู้จักคิดด้วยตนเอง) สุดท้ายฟังแล้ว ละกิเลสได้ เกิดภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาเกิดจาก การปฏิบัติ หรือลงมือทำ
อีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อได้เห็นองค์ธรรม คือได้เห็นความงามของพระธรรมในเบื้องต้น เห็นความงามในท่ามกลางและเห็นความงามในที่สุด เพราะพระธรรมทุกบทจะมีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ดังนั้น เมื่อเห็นความงามทั้ง ๓ แล้ว ในการฟัง ก็เกิดปัญญาทั้ง ๓ เกิดสุตะ เกิดจินตา เกิดภาวนามยปัญญา ขึ้นมาจากการฟัง ดังนั้นที่พม่า เขายังมีรูปแบบนี้อยู่ ยังรักษารูปแบบนี้ไว้ได้อย่างดีเลิศ เราจึงควรต้องไปศึกษาดูงานเขา
การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของ อุบาสก อุบาสิกา
ทัศนคติและบทบาทของอุบาสก อุบาสิกาในการสนับสนุนการศึกษาของพระสงฆ์ ทั้งด้าน ปริยัติและปฏิบัติ ซึ่งพุทธบริษัท ๔ ในส่วนของอุบาสกอุบาสิกานั้น ถือเป็นอีกหนึ่งเสาหลักในการสนับสนุนให้พระเณรของพม่า ให้ได้มีการศึกษาอย่างจริงจัง เข้มแข็ง ทั้งปริยัติและปฏิบัติ ในแง่ทัศนคตินั้น ญาติโยมชาวพม่าเขาจะคุยกันว่า ตอนนี้พระที่ฉันอุปัฏฐากจบธัมมาจริยะแล้ว เณรที่ฉันอุปัฏฐากตอนนี้จบ ๑ ปิฎกแล้ว พระของฉันจบ ๒ ปิฎกแล้ว คือญาติโยมพม่า จะไม่ได้คุยว่า พระของฉันได้สมณศักดิ์เป็นอะไร ชั้นไหนแล้ว แต่ญาติโยมจะภูมิใจกับการสนับสนุน พระให้เรียนรู้และทรงจำพระไตรปิฎก
ตรงนี้ทางรัฐบาลพม่าให้สนับสนุนอย่างมาก เช่น ถ้าสามารถทรงจำได้ ๑ ปิฎก ได้นั่งรถนั่งเรือของรัฐบาลฟรีหมด ถ้าได้ถึง ๓ ปิฎก จะได้นั่งเครื่องบินฟรี มีลูกศิษย์ติดตามได้อีก ๑ คน เป็นต้น นั่นเพราะ เขาถือว่าพระที่ทรงจำพระไตรปิฎกเป็น VIP เป็นบุคคลสำคัญของชาติ รัฐบาลจึงเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย ฝ่ายญาติโยมจะภูมิใจว่า พระที่เราส่งเสริมสนับสนุนนั้น ท่านท่องพระไตรปิฎกได้กี่ปิฎกแล้ว จะเห็นได้ว่า ในส่วนของปริยัตินั้น ญาติโยมจะภูมิใจกับการส่งเสริมพระเรียน พระปฏิบัติ จะไม่ได้ส่งเสริมเรื่องพระรูปนี้ขลัง พระรูปนี้มีอิทธิฤทธิ์ พระรูปนี้ศักดิ์สิทธิ์ แต่อย่างใด แต่จะส่งเสริมและมีความภาคภูมิใจว่า พระที่ตนได้อุปัฏฐากอยู่ตอนนี้ ท่านได้จบ ๑ ปิฎก ๒ ปิฎก ๓ ปิฎก แล้วรึยัง ชาวพม่าจะภูมิใจกับความสำเร็จของพระสงฆ์เป็นอย่างมาก
อีกมุมหนึ่ง ในส่วนของปฏิบัตินั้น ญาติโยมก็จะภูมิใจว่า พระที่ฉันส่งไปเข้ากรรมฐาน ตอนนี้ เป็นอาจารย์กรรมฐานแล้วนะ องค์นี้เปิดสำนักแล้วนะ คือโยมจะส่งเสริมให้พระมีความเข้มแข็งด้านปริยัติ และส่งเสริมให้พระมีความเข้มแข็งด้านปฏิบัติด้วย ญาติโยมจะมีความภูมิใจกับการได้ส่งเสริมในรูปแบบอย่างนี้ ฉะนั้น แม้การสร้างวัดสร้างถาวรวัตถุภายในวัด จะเป็นหน้าที่ของโยม แต่เขาจะไม่เอามาคุยเลยว่า วัดของฉันนั้นสวยขนาดไหน ใช้งบประมาณขนาดไหน จะไม่พูดประเด็นนี้เลย จะพูดแต่ประเด็นว่า พระที่ฉันเลื่อมใสอยู่ ที่ฉันนับถืออยู่ตอนนี้ ท่านเรียนอะไร ท่านสอนอะไร ท่านปฏิบัติอะไร ท่านทำงานด้านพระศาสนาด้านไหน ก็จะเอาสิ่งที่พระทำ คือด้านปริยัติ ด้านปฏิบัติ ด้านเผยแผ่ เอาเรื่องแบบนี้มาคุย มาสนทนากัน
เมื่อเป็นแบบนี้ ก็จะมีทัศนคติไปในเชิงสอดส่อง สนับสนุน คอยสอบถามพระท่านว่า ท่านสอบได้ชั้นไหนแล้ว ขาดหนังสืออะไร ขาดเหลืออะไร ต้องการจะไปปฏิบัติไหม โยมไปส่งสำนักปฏิบัติให้ โยมก็พยายามส่งเสริม กระตุ้นเตือนทำให้พระอยากเรียน อยากปฏิบัติ ขาดเหลืออะไร เช่น หนังสือ บอกเลย โยมก็จะปวารณา เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่สัมผัสได้จากการไปดูงานของพม่า เพราะเขาทำงานปริยัติ ปฏิบัติ อย่างเข้มแข็ง และทำต่อเนื่อง
เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พระที่เรียนพระไตรปิฎกอยู่นั้น จะไม่มีการรับกิจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการออกไปข้างนอกทำให้เสียสมาธิ แต่ถ้าป็นบ้านเรา พอพระเริ่มจะดังหน่อย โยมก็พากันนิมนต์ไม่หยุด คือเอาเวลาของพระไปหมด ถึงแม้พระพม่าท่านต้อง เรียน-ท่อง เรียน-ท่อง เรียนให้เข้าใจ แต่ตอนเช้าท่านก็สอนด้วยนะ สอนแปล คนที่จะไปสอบ ท่านก็สอนให้ ซึ่งตอนที่อาตมาเรียนแปลอยู่นั้น ก็ต้องสอนให้คนอื่นเช่นกัน เป็นการฝึกการแปลขั้นพื้นฐานนั่นเอง เมื่อพระสอนช่วงเช้าเสร็จแล้ว ตอนบ่ายท่านจึงจะให้เวลากับตัวเอง ท่านก็กลับไปเรียนต่อของท่าน ไปท่องของท่าน และในตอนเย็นก็เป็นช่วงทบทวน เรียน-สอน-ท่อง-ทวน ท่านก็ทำครบกระบวนการ การสอนนี้ช่วยในการเรียนไปในตัว ก็คือเมื่อท่าน เรียน-ท่อง อะไรๆ ที่มันผ่านพอเข้าใจแล้วทำอย่างไรท่านจะไม่ลืม ท่านก็เอาตรงนั้นแหละไปสอน สอนคือการพูดย้ำ ๆ แบบย้ำ ๆ ให้คนที่ยังไม่รู้ได้ฟัง คนใหม่ก็ได้เรียนจากท่าน แบบง่ายๆ ซึ่งนั่นก็คือเป็นการทบทวนสำหรับตัวท่านเองไปในตัว แล้วท่านก็ได้ตรงนั้น ได้ทวนตอนสอนตอนเช้า แล้วตกเย็นก็มาทวนอีกรอบหนึ่ง โดยตอนเย็นเป็นการทวนเนื้อหาที่กว้างขึ้นอีกมาก ฝ่ายญาติโยมพม่านั้น เขาให้ความร่วมมือในการนี้เป็นอย่างดี โดยถ้าเขารู้ว่าองค์ไหนกำลังเรียนกำลังท่องพระไตรปิฎก กำลังสอบจะขึ้นไปสู่พระไตรปิฎก เขาจะไม่รบกวนเวลาเด็ดขาด ไม่นิมนต์ท่านออกกิจเด็ดขาด ให้ท่านเรียน ให้ท่านท่องจนจบ จบแล้วจึงจะนิมนต์ ช่วงเรียน ไม่ต้องรับกิจนิมนต์ ไม่ต้องรับผิดชอบ ให้เรียนให้เต็มที่เลย และคอยดูแล ขาดเหลืออะไรก็เอาไปสนับสนุน
ตำราเรียนคุณภาพ มีให้เข้าถึงหลากหลาย
สิ่งสำคัญในการเรียนอีกอย่างคือ ตำราเรียน, หนังสือเรียน ของพม่า เราจะพบเห็นความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยตำราดี ๆ และคู่มือสำหรับพระเณรผู้เรียน อย่างมากมาย เช่น หนังสือเรียนของระดับชั้นเดียวกันนั้น จะมีพระเป็นสิบ ๆ องค์ที่ได้เขียนตำราดี ๆ ในเรื่องนั้นไว้ ต่างองค์ต่างเขียนกันไปองค์ละแบบองค์ละ style เช่น ตำราไวยากรณ์ ไม่ใช่มีเพียงตำรา ไวยากรณ์ขององค์เดียว แต่จะมีให้เลือก องค์นี้ ทำตำราไวยากรณ์เป็น PowerPoint องค์นั้น ทำเป็น Mind Map องค์โน้นทำเป็นคำกลอน อีกองค์นี้ทำเป็นไวยากรณ์แบบอักษรย่อ ทำให้ในวิชาหรือเรื่องเดียวกันนั้น ผู้เรียนอยากจะเลือกเรียนแบบอักษรย่อ แบบคำกลอน แบบ Power Point หรือจะเรียนแบบไหนก็มีให้หมด
หนังสือเรียนของพระเณรในเรื่องเดียวกัน ก็จะมีการพิมพ์ออกมาแข่งกันในเรื่องของคุณภาพ โดยวัดความสำเร็จกันที่นักศึกษานิยมชมชอบว่าตำราของใครเอาไปใช้ได้ผลดีที่สุด ก็คือนักเรียนจะดูเลยว่า ขององค์ไหนทำตำราเรียนรู้ง่าย มีการเจาะลึกแล้วก็มีเทคนิคช่วยจำได้ง่าย เนื้อหาครบ มีบทถกปัญหาเก่า ปัญหาใหม่ มีทั้งวิธีการเรียน มีวิธีการช่วยทรงจำให้ด้วย ซึ่งการทำตำราเรียนออกมาในแบบแข่งขันกันด้วยคุณภาพเช่นนี้ ทำให้ผู้เรียนไม่ต้องไปยึดติดเพียงว่าของสำนักพิมพ์นั้น สำนักพิมพ์นี้ จึงจะดี ไม่ต้องยึดติดว่าต้องขององค์นั้น องค์นี้ จึงจะดี เมื่อมีมากมายให้เลือก อันไหนดีที่สุดก็เอามาเลย
บรรยากาศแบบนี้จึงทำให้พระชอบเขียนหนังสือ เขียนตำรากันมาก และยังมีตำราดี ๆ อีกประมาณ ๖,๐๐๐ กว่าคัมภีร์ ที่พระพม่าท่านเขียนเอาไว้ แต่ยังไม่ได้พิมพ์ พระที่มีความรู้ ท่านเขียนกันไว้ บนใบลาน เขียนเก็บเอาไว้ในช่วงที่ท่านว่าง หรือเสร็จจากภารกิจสอนหนังสือ หรือช่วงที่ปฏิบัติ ท่านก็จะเขียน ๆ เก็บไว้ บางครั้ง เขียนเสร็จ ท่านมรณภาพไปก่อน ก็มี จึงยังไม่ได้พิมพ์ ยังไม่ได้เผยแผ่ อีกกว่า ๖ พันเล่ม หนังสือและตำราเหล่านี้ล้วนมีคุณภาพ เพราะในส่วนของการพิมพ์หนังสือเองนั้น จะต้องมีคณะกรรมการกองวิชาการตรวจสอบก่อน ซึ่งกรรมการจะทำหน้าที่ตรวจดูเนื้อหา เช่น ถ้าเนื้อหาเป็นเถรวาท ก็ต้องเขียนแนวเถรวาทอย่างเดียว ถ้าหากเป็นงานเขียนแนวมหายาน ผู้เขียนจะต้องระบุว่านี่คือ มหายาน ถ้าหากใครเขียนก้ำกึ่งกันระหว่างเถรวาทผสมมหายาน หรือเถรวาทผสมไสยศาสตร์ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์ คือ ถ้าจะเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ก็ไสยศาสตร์ไปอย่าเอาเถรวาทมาปน ถ้าจะเถรวาทก็เถรวาทเท่านั้น ต้องทำให้มันชัดเจนไปว่าเป็น นิกายใด จะไม่ให้มีการปนกัน เพื่อคุ้มครองปกป้องผู้อ่านไม่ให้เกิดความสับสน หรือเผยแพร่สิ่งที่ผิดออกไป
การที่พม่าทำเช่นนี้ได้ เพราะเขามีกองวิชาการคอยควบคุม คอยจัดเก็บข้อมูล พระองค์ไหนที่เขียนหนังสือมาแล้วดังหรือมีชื่อเสียง เขาจะเก็บข้อมูลเก่าๆ มาตรวจสอบทั้งหมดเลย ก่อนที่จะให้เผยแผ่ ถ้าพบว่าผิดก็ให้แก้ไข ถ้ายอมแก้ไข ก็ให้ทำต่อ แต่ถ้าไม่ยอมแก้ไข ก็จะใช้อำนาจศาลปิดการสอน พม่าเขามี ๒ ศาล คือศาลสงฆ์ กับศาลทางโลก ศาลสงฆ์จะนั่งบัลลังก์เดือนละ ๒ ครั้ง เมื่อศาลสงฆ์ตัดสินแล้ว ก็ส่งศาลทางโลก ถ้าผ่านศาลทางโลกแล้ว พบว่ามีผิดอีก ก็ติดคุก ศาลสงฆ์
อาจจะให้สึก แต่ศาลทางโลกให้ติดคุก ใครจะเทศน์อย่างไรก็แล้วแต่ เขาจะเก็บข้อมูลมาตรวจสอบ มาวินิจฉัย การเผยแผ่หนังสือธรรมะ พม่าจะเข้มงวดมาก
ยุค 4G พม่าต้องเร่งสร้าง Gen ใหม่ พระผู้ทรงจำพระไตรปิฎก
ปัจจุบันพม่าหนีไม่พ้นปัญหามีจำนวนพระลดลงราวร้อยละ ๔๐ รวมทั้งจำนวนสามเณร ก็ลดฮวบลง เพราะเข้าสู่ภาคแรงงาน โดยทั่วไปชาวพุทธพม่า จะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ครอบครัวสามเณร เพื่อรักษาสมณทายาท เอาไว้ให้มากที่สุด เพื่อสืบทอดการศึกษาพระศาสนาในระยะยาว ในส่วนของการศึกษาที่วัด พม่าก็กำลังมีเทรนด์ใหม่ของการสร้างพระผู้ทรงพระไตรปิฎกรุ่นใหม่ หรือเรียกว่า Gen ใหม่ คือทุกวัดที่มีพระที่จบพระไตรปิฎก เป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฎกอยู่แล้วจะสร้างสำนักเรียนพระไตรปิฎก สอนลูกศิษย์เล็ก ๆ คือเณร ให้ท่องพระไตรปิฎกเหมือนอย่างท่าน โดยหาวิธีการใหม่ หาเทคนิคใหม่ และสร้างได้สำเร็จมาหลายองค์
ตัวอย่างองค์ที่กำลังสำเร็จตอนนี้ที่เมืองสกายน์ มีวัดหนึ่งที่กำลังโด่งดังขึ้นมาใหม่ พระที่ท่านเรียนจบมาแล้ว ท่านมาสร้างรุ่นใหม่ขึ้นมาท่านหาวิธีการใหม่ หาเทคนิคใหม่มาสอน ระหว่างเรียน ไม่ต้องออกบิณฑบาต พอดีมีญาติโยมไปจองเช้า จองเพล เลี้ยงเพลทั้งหมด ให้พระได้เรียนอย่างเดียว ลุย ๆ ๆ เรียน..! ท่านทำแบบนี้ เพียงไม่กี่ปี ลูกศิษย์ท่านก็เรียนสำเร็จ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการสร้าง Gen ใหม่ของพม่านั้น พระที่ทรงพระไตรปิฎกทุกรูป ท่านกำลังทำหน้าที่สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ดังนั้นในวัดที่ท่านจำวัดอยู่นั้น ก็จะมีลูกศิษย์มาติดตามอย่างต่ำสุด ๒๐๐ รูป ที่กำลังเดินตามรอยท่าน และเชื่อว่าในลูกศิษย์ ๒๐๐ รูป เหล่านี้ ถ้าประสบความสำเร็จสัก ๒๐ องค์ ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว
ไทย จะมีพระผู้ทรงจำพระไตรปิฎก อย่างที่เกิดขึ้นในพม่า ได้หรือไม่ ?
สำหรับเรื่องการทรงจำพระไตรปิฎกนั้น หนังสือ เดอะ กินเนสส์ บุ๊ก ออฟ เรคคอร์ด (Guinness World Records or The Guinness Book of World Records) พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ ได้บันทึกไว้ว่า การมีผู้ทรงจำพระไตรปิฎก ถือเป็นการทรงจำ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่มีใครเสมอเหมือน คัมภีร์ของศาสนาอื่นๆ ก็มีผู้ท่องจำได้
In 1985, the Guinness Book of Records recorded the sayadaw as a record holder in the Human memory category. The exact entry was Human memory: Bhandanta Vicitsara (sic) recited 16,000 pages of Buddhist canonical text in Rangoon, Burma in May 1954. Rare instances of eidetic memory — the ability to project and hence “visually” recall material– are known to science.
ซึ่งใช้วิธีเทียบกับเนื้อหาของคัมภีร์อื่น ๆ เช่น ไบเบิ้ลของคริสต์ศาสนา หรืออัลกุรอานของอิสลาม ก็มีปริมาณเนื้อหาไม่มากเมื่อเทียบกับเนื้อหาของพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งมีปริมาณมหาศาล สำหรับภาษาไทยยังต้องบรรจุในหนังสือเล่มใหญ่ ๆ ถึง ๔๕ เล่ม เลยทีเดียว ดังนัั้น การท่องจำพระไตรปิฎกได้ จึงเป็นเรื่องที่ฝรั่งแทบไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ จึงถูกบันทึกไว้ให้เป็นเรื่องมหัศจรรย์ของชาวโลก
แม้การทรงจำพระไตรปิฎกเหมือนเป็นเรื่องมหัศจรรย์ แต่ด้วยความอุตสาหะอย่างเอกอุ ก็ทำให้เป็นสิ่งที่ทำได้ ในประเทศไทยเราก็อาจทำได้ แต่ยังอาจใช้เวลาตามให้ทันพม่าอีกหลายปี เพราะพระพม่าผู้ทรงจำประไตรปิฎกได้แต่ละองค์ที่สอบได้ในแต่ละขั้น ๆ ส่วนใหญ่ต้องผ่านการฝึกฝนเป็นเวลา ๒๐ – ๓๐ ปี ซึ่งก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละองค์ อย่างเร็วที่สุดคือ ๘ ปี ๑๕ ปี อย่างช้าที่สุด สำหรับองค์ที่พอท่องไหว พอท่องจำได้แต่ช้าหน่อยคือ ๒๑ ปี แต่ว่า ๘ ปี ที่ว่าเร็วที่สุดนั้น ไม่รวมถึงการเรียนระดับพื้นฐาน ที่ได้เรียนมาแล้วกว่า ๑๐ ปี ดังนั้นที่ว่าท่องจำได้ภายใน ๘ ปี นั้น ก็คือมาเรียนต่อจากระดับพื้นฐานอีกที
ดังนั้นหากได้สนับสนุนผู้ที่เรียนจนจบพระไตรปิฎกแล้ว เมื่อจะไปเทศน์ก็เทศน์ได้มาตรฐาน สอนก็ได้มาตรฐาน เขียนตำราก็ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการผลักดันให้มีพระที่ไปถึงจุดนั้นได้ พอถึงจุดนั้นแล้ว องค์ความรู้ได้มาตรฐานแล้ว เวลาเทศน์ไม่ต้องไปเซ็นเซอร์ เวลาสอนไม่ต้องไปดูแล้ว เวลาเขียนหนังสือไม่ต้องห่วงใยแล้ว เพราะอะไร ? ก็เพราะท่านเอามาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาทั้งหมดนำมาเขียน เพียงแค่เล่มไหนมันอยู่ตรงไหน มีการเทียบเคียงอย่างไร และที่จะต้องเอามาใช้มันคืออะไร แค่นี้แหละ ท่านจะไม่เอาความรู้สึกของตัวเองเข้าไปใส่ในการสอนพระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา เพราะฉะนั้น ก็รักษาพระไตรปิฎกได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก เรียนมาหมด เข้าใจหมดและเห็นคุณค่า ช่วยกันรักษา
จะเห็นได้ว่า การศึกษาพระไตรปิฎกของพม่าจะไปไกลกว่าเรามาก เราจึงต้องไปดูตัวอย่างเขา ของเรายังไม่ได้ทำ จะได้มาริเริ่มขั้นสำเร็จจึงพอหวังได้ แต่เราไม่ต้องไปตามให้ทันเขาหรอก เราก็ก้าวไปตามปกตินั่นแหละ เพียงแต่ให้มีอุดมการณ์มั่นคงว่า เราจะก้าวไปสู่พระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกาให้ได้
ไทยเราจะเอาแบบอย่างอะไรมาใช้ได้ไหม ?
ในเรื่อง การผลิตหนังสือ และตำราคุณภาพ ที่ผ่านการตรวจสอบขององค์กรด้านวิชาการ อาจจะมีหลายคนคิดว่าดี และอยากให้เมืองไทยเอาเป็นแบบ แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่มีกองวิชาการ เรายังไม่ได้สร้างกองวิชาการ ที่มีพระผู้ทรงจำพระไตรปิฎกของเรา ยังไม่มีกองวิชาการที่เป็นที่ยอมรับของทุกคน ถ้าใครถามปัญหา กองวิชาการเขาตอบได้ว่า อันนี้ใช่หรือไม่ อันนี้ได้หรือไม่ได้มาตรฐาน กองวิชาการของเขามีองค์ความรู้ และมีความสามารถที่จะตรวจสอบได้ว่า อันไหนเป็นเถรวาท อันไหนเป็นมหายาน อันไหนเป็นไสยศาสตร์ หรืออันไหนเป็นพุทธศาสตร์ เขาสามารถแยกได้ชัดเจน เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องไปดูงานเรื่องนี้ที่พม่า
หลังจากที่ไปดูงานมาแล้ว ก็ได้มีพระที่ร่วมคณะไปด้วยองค์หนึ่ง ได้บอกเล่าให้เพื่อนสหธรรมิกได้ทราบเรื่องต่อ ทำให้มีกลุ่มผู้ตามไปดูงานอีกจำนวนมาก ซึ่งเมื่อกลับมาก็ได้ถ่ายทอดความประทับใจต่อ ๆ กันไปอีก จึงมีคนอยากตามไปอีก นี่ก็กำลังจะรวบรวมอีกคณะไปศึกษาดูงานที่พม่า ซึ่งเป็นการดี เพื่อส่งเสริมให้มีผู้สนใจ ได้เดินทางไปดูงานอย่างต่อเนื่องเรื่อย ๆ พอพวกเขาได้ไปดูงานมาแล้ว เราพบว่าทุกคนต่างแรงบันดาลใจที่จะให้มีอะไรเกิดขึ้นในไทย ดังนี้ คือ
๑. อยากให้ประเทศไทยมีผู้ทรงจำ พระไตรปิฎก ให้ได้ และเชื่อว่าคนไทยทำได้แน่นอน แต่จะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ? ต้องหาเทคนิคเข้ามาช่วย เช่น ฝรั่งเขามี Active learning ของพุทธเราก็มี เราเรียกว่า ระบบสิกขา สิกขา คือ เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา หรือสิกขาคือ เรียนรู้ให้เข้าใจ – ทรงจำให้ได้ -ทบทวนให้ไม่ลืม – ฝึกหัดให้เป็น – ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ระบบสิกขา Active learning คือ สิ่งเดียวกัน ดังนั้น ถ้าเราเอาระบบสิกขาเข้ามาใช้จริงๆ ฟังให้เข้าใจ ทรงจำให้ได้ ทบทวนอย่าให้ลืม ฝึกหัดให้เป็น มันก็สามารถไปได้ โดยผ่านการสอบ อ่านเล่มหนึ่งก็มาสอบเล่มหนึ่ง อ่าน ๒ เล่มก็มาสอบ ๒ เล่ม แล้วมีใบประกาศให้ เพื่อเชิญชวนกระตุ้นเตือน จะได้รู้พระไตรปิฎก และเอาพระไตรปิฎกมาใช้ได้ และช่วงนี้มีผู้แจกพระไตรปิฎกฉบับเสียงอ่าน แจก Thumb Drive ความจุ ๓๒ GB บันทึกเสียงอ่านพระไตรปิฎก แจกกันตามไลน์ ควรฟังให้ชิน พอมาอ่านก็ อ๋อ เคยฟังมาแล้ว ชินเสร็จก็มาสอบได้เลย
๒. อยากให้มีการส่งเสริมให้ญาติโยมมาเรียนคัมภีร์ ต่างๆ ทางวัดจากแดงเปิดสอนให้ เปิดสอบให้ ญาติโยมที่อ่านคัมภีร์นี้จบ ก็มาสอบได้เลย
๓. อยากให้มีการส่งเสริมการเรียนภาษาบาลีในไทย ทุกวันนี้ คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกกับภาษาบาลีในเชิงว่า ไม่รู้จะเรียนไปทำไม ในเมื่อบาลีเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว แต่ความจริงคือ เมื่อเรียนรู้ภาษาบาลีแล้ว จะเข้าใจสาระของพุทธศาสนาได้ดีขึ้น เช่น เริ่มจาก สามารถแปลบทสวดมนต์ภาษาบาลี ที่เราเคยแปลไม่ได้ แต่พอเราเรียนบาลีแล้ว เราจะแปลได้ พอแปลเสร็จ เราก็จะเกิดความซาบซึ้ง เห็นคุณค่าของบทสวดที่เราสวดทุกบทเลย อ๋อ… มีคุณค่ามากขนาดนี้ หรือบทที่เราสวด สิ่งแรกเลย ถ้าเรารู้ความหมายในภาษาบาลี รู้คุณค่าของบทสวด รู้องค์ธรรมแล้วสวด ก็จะมีคุณค่ามาก
บางคนเห็นว่า พระไตรปิฎกแปลนั้น ไม่ได้อรรถรสของภาษาเท่าภาษาบาลี แต่ถ้ายังไม่รู้บาลี อันนี้ แม้เอาแค่ภาษาไทย ก็ได้อรรถรสภาษาไทย ศรัทธาก็เกิดแล้ว ดังนั้นตอนเริ่มต้น ก็ควรอ่านภาษาไทยไปก่อน อย่าเพิ่งขยับไปภาษาบาลี มันอาจจะยากไปสำหรับเรา อย่างไรก็ตาม ถ้าเรารู้ภาษาบาลีด้วย ทั้งศรัทธา ทั้งปัญญา มันก็จะเกิดชัดเจนมากยิ่งขึ้น นั่นคือ ทำไมคนพุทธ โดยเฉพาะคนไทยจึงควรรู้ภาษาบาลี ทางวัดจากแดง ได้ทำโครงการส่งเสริมการเรียนภาษาบาลี เช่น
- “บาลี Made Easy” โดยให้ผู้ที่แรกเริ่มเรียนรู้เรื่องภาษาบาลี ให้เขาได้หัดพูดภาษาบาลีก่อน พอพูดภาษาบาลีได้แล้ว จึงค่อยมาเรียนไวยากรณ์ แล้วขยับไปทีละขั้น ๆ ให้เรียนรู้พระไตรปิฎกกับภาษาบาลีควบคู่กันไป
- “บันทึกวีดีโอการสอนออกเสียงพระปริตรให้ชัดเจน” ออกเสียงพระปริตรอย่างไรให้มันถูกอักขระ และสวดอย่างไรให้ไพเราะ ให้น่าฟัง ทั้งบาลีและคำแปล การถ่ายทำน่าจะเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ โดยพระปริตรทั้งหมดเขียนเป็นการ์ตูน มีการบันทึกเสียงสวดเป็นภาษาบาลี ใช้สำเนียงบาลีชัด ๆ และมีแปลให้ด้วย
๔. อยากให้มีการทำสื่อการสอนภาษาบาลีไวยากรณ์แบบใช้กลอน ซึ่งทางวัดเองก็กำลังดำเนินการ เป็นโครงการที่คิดว่าไม่นานคงสำเร็จ เป็นโครงการที่จะช่วยทำสิ่งที่มันยากให้ทำได้ง่าย ๆ ด้วยเทคนิคช่วยจำ ต่าง ๆ ทำสื่ออักษรย่อ ด้วยกลอน ซึ่งจะง่ายต่อการเรียน
ประเด็นที่สำคัญต่อมาก็คือ การเรียนไปตามลำดับความยากง่าย ไวยากรณ์อย่าเพิ่งเอามาสอนก่อน เอาภาษาพูดภาษาสื่อสารให้ได้ก่อน แล้วจึงดึงกลับเข้าไปสู่ไวยากรณ์ อีกอย่างคือ ถ้าอยากเรียนให้ได้ผลดี อย่าท่อง แต่ให้ใช้เทคนิค “อ่านให้ติดปาก ดูให้ติดตา ภาวนาให้ติดใจ” หรือ “ฟังให้ชินหู ดูให้ชินตา ภาวนาให้ชินใจ” วิธีนี้มันจะช่วยให้ความจำของเราเก็บข้อมูลให้เราแบบอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องพยายามนึกให้ออกหรือต้องท่องจำ ตอนแรกสร้างความคุ้นชินด้วยการฟัง ๆ และ ฟัง พอฟังชินหูแล้ว ดูให้ชินตา หลังจากนั้น เอาเนื้อหามาภาวนา บริกรรมภาวนาให้มันชินใจ พอชินแล้ว คราวนี้จะฝังลงในความจำให้แน่น สามารถพูดได้ติดปาก ดูให้ติดตา ภาวนาให้ติดใจ อันนี้มันจะเก็บข้อมูล ไม่ต้องท่อง ท่องไปเดี๋ยวก็ลืม อ่านให้ติดปาก อ่านบ่อยๆ ให้ติดปากก็ใช้ได้แล้ว สมัยก่อนยังไม่รู้วิธีนี้ ก็ต้องท่องกันเป็นพัน ๆ รอบ ตอนหลังนี่รู้แล้ว ไม่ต้องท่องแล้ว ใช้บริกรรม เอาบริกรรมร้อยเที่ยวพันเที่ยว บริกรรมเป็นมหากุศล แต่ท่องเป็นโลภะ เพราะใจเรามันมัวแต่อยากจะได้อยากจำ
วิธีสร้างพระผู้ทรงจำพระไตรปิฎกของไทย ให้ทำเป็นโครงการระยะยาว ก้าวไปช้า ๆ
โครงการในความตั้งใจตามข้างบนนั้น จะต้องทำเป็นแบบโครงการระยะยาว แต่ก้าวไปช้า ๆ ไปเรื่อย ๆ จะไม่ก้าวเร็วนัก เราไปทีละขั้น ๆ บุคลากรตอนนี้ยังมีไม่เพียงพอ แต่ไม่เป็นไร เราสร้างขึ้นมาได้ หรือ Import นำเข้ามา เช่น จากพม่า ซึ่งก็ทำกันมาตั้งแต่เดิมอยู่แล้ว
การเรียนรู้พุทธศาสนา ถ้าเปิดการเรียน การสอนได้จริง ๆ ก็ไม่ต้องเฉพาะพระสงฆ์ พระไตรปิฎกหรอก เปิดสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาที่เข้มแข็ง มีการเรียนการสอนได้จริง ๆ มันก็มีคนที่มาเรียนจริง ๆ ถ้าไม่รู้จะเริ่มที่ไหนก็เริ่มจากที่วัด เช่น วัดจากแดง วัดญาณเวศกวัน
ภายใน ๓ ปีข้างหน้า น่าจะเห็นอะไรได้บ้างแล้ว การศึกษาพระไตรปิฎกที่จะได้เห็นพระไทยเริ่มท่องพระไตรปิฎก น่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ ภายใน ๓ ปีนี้ จะเกิดขึ้นแน่นอน มีหลักสูตร มีการเรียน การท่อง ฯลฯ แม้บรรยากาศที่เมืองไทย ตอนนี้ยังไม่เอื้อกับการเรียนแบบนี้นัก แต่ไม่เป็นไร เราช่วยกันสร้างบรรยากาศได้ เช่น ถ้าพระกำลังเรียนอยู่ โยมก็พยายามอย่านิมนต์บ่อยนัก อยากทำบุญก็มาที่วัด ที่สำคัญงดการนิมนต์ไปที่บ้าน แต่ถ้านิมนต์องค์ที่ไม่ได้เรียนก็ไปได้ พระจะได้มีเวลาเรียน มีเวลาสอน เพราะระหว่างพระท่องพระไตรปิฎก ก็ให้ท่านได้สอนด้วย
ขอส่งท้าย สำหรับวารสารโพธิยาลัยนี้ เล่มที่แล้วที่เป็นเรื่องของ หลวงพ่อท่ามะโอ วารสารโพธิยาลัย ฉบับที่ ๔๔ (คลิกเปิดในหน้าต่างใหม่) ซึ่งได้ทำให้มีผู้อ่านอยากเรียนบาลีและพระไตรปิฎกขึ้นมาจำนวนมาก ดังนั้น ต่อไปนี้ทุกเล่มจะก็จะให้มีเรื่องเกี่ยวกับภาษาบาลี เอาไว้ตลอด เพื่อควบคู่ไปกับโครงการส่งเสริมการเรียนบาลีของวัดจากแดง โดยจะมีคอลัมน์ประจำ เช่น หน้าต่างบาลี ของพระอาจารย์สมปอง ที่สอนภาษาบาลีแบบให้อ่านกันได้ง่าย ๆ รวมทั้งบทความของท่านอื่น ๆ ด้วย
คำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ ดูงานพระไตรปิฎกศึกษาที่พม่า พระไตรปิฎกศึกษา pdf, ปิฏก ปิฎก พระไตรปิฎกศึกษา มจร, พระไตรปิฎก มีกี่เล่ม, พระพม่าทรงจำพระไตรปิฎก, การท่องจำพระไตรปิฎก เรียกว่า, พระเถระชาวพม่าชื่อ, คณะ เดินทาง ศึกษา, ไปดูงาน, ดูงาน ศึกษาดูงาน เข้าศึกษาดูงาน การเดินทางไปดูงานพระพุทธศาสนา ต่างประเทศ ในต่างประเทศ ตามสถานที่ พระ จำคัมภีร์ พระไตรปิฎกทั้งเล่ม จำได้ จำ ทรงจำ ความทรงจำ ความจำ พระทรงจำ ผู้ทรงจำ สมอง ศึกษา ท่อง ท่องจำ จดจำ ถ่ายทอด รักษา พระพุทธศาสนา ในประเทศพม่า ในพม่า ทัวร์พม่า เที่ยวพม่า เมียนมาร์ พระไตรปิฎกในประเทศพม่า กลุ่มพระไตรปิฎกศึกษา มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ พระไตรปิฎกศึกษา หลักสูตร ปริญญาโท การศึกษาสงฆ์ พุทธศาสนาในพม่า
แหล่งที่มา:
- พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร. (2563). ทำไมต้องดูงานพระไตรปิฎกศึกษาที่พม่า. วารสารโพธิยาลัย, 4(46), 3-12.
- วัดจากแดง. (2563). วารสารโพธิยาลัย. เข้าถึงได้จาก https://watchakdaeng.com/2019/วารสารโพธิยาลัย-ฉบับ46/
โพสอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง:
- พระผู้ทรงพระไตรปิฎก ติปิฏกธร : มหัศจรรย์ความทรงจำ ของมนุษย์ที่เป็นอันดับหนึ่งของโลก
- การเรียนการสอนพระไตรปิฎกในพม่า มีลักษณะอย่างไร?
- พระไตรปิฎกศึกษา โดย พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร
- พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า : นิกาย การปกครอง และสมณศักดิ์
- ไวยากรณ์ภาษาพม่าวันละนิด (*13)
- เรียนภาษาพม่า วันละชั่วโมง (*55)