พายเรือเพื่อเจ้าพระยา ร่วมทอดผ้าป่าขยะหัวเรือ
กิจกรรม “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา ร่วมทอดผ้าป่าขยะหัวเรือ” 10-11 ต.ค. 62 ณ วัดจากแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับอาสาสมัครพายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อทะเล ตระหนักถึงความสำคัญในการคิดก่อนทิ้งขยะ ที่จะไม่ให้มันลงไปสู่แม่น้ำได้
โครงการพายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ ปีที่ 2 ตลอด 10 วัน เริ่มตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ถึง จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 535 กิโลเมตร รวม 10 วัน สามารถเก็บขยะที่จะสามารถนำมารีไซเคิลได้ รวมทั้งหมด 3,215 กิโลกรัม ขยะที่ได้ไม่ได้นำไปเผาทิ้ง แต่นำไปรีไซเคิล ด้วยวิธีการ Upcycling หรือ การชะลอการเกิดขยะ โดยการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ โดยนำไป ทอดผ้าป่าขยะหัวเรือ ที่วัดจากแดง จ.สมุทรปราการ พระอาจารย์มหาประนอม ธมฺมาลฺงกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง รับถวายขยะที่คัดแยกแล้วทั้งหมด นำไปจัดการด้วยเทคโนโลยีการรีไซเคิล บางส่วนทำเป็น ปุ๋ย แจกจ่ายให้กับชาวบ้าน (เคยทำปุ๋ยได้มากสุดถึงวันละกว่า 3 ตัน) บางส่วนแปรรูปเป็น น้ำมัน สำหรับ ขยะพลาสติกที่คัดแยกส่วนหนึ่งจะถูกนำไปทำเป็น จีวรพระรีไซเคิล เพื่อหมุนเวียนให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญ สร้างรายได้เข้าชุมชน
https://www.facebook.com/radiobodhiyalai/posts/2623271057724375
ภาพและข่าวจาก: เพจ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คลิกดู
วิธี รีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นจีวรพระ
จีวรรีไซเคิล 1 ผืน จะใช้ขวดพลาสติกชนิด PET จำนวน 15 ขวด
การรีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นจีวรพระ วัดจากแดงจะเก็บรวบรวมขวดพลาสติกจากชุมชนไปยังโรงงานที่ จ.ชลบุรี ผ่านกระบวนการผลิตพลาสติกที่แยกเป็นขวดพลาสติก PET ชนิดใส โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน นำขยะที่ได้มาผ่านกระบวนการ Upcycling ใช้นวัตกรรมและแปรรูปเป็นเส้นใยรีไซเคิล แล้วจึงถักทอผสมผสานกับเส้นใย Polyester Rayon เส้นใยฝ้าย จีวรแต่ละผืนจึงมีความนุ่ม ไม่มีความแข็ง และทนเทียบเท่ากับผ้าจีวรเกรดพรีเมียม และยังใช้เส้นใย โพลีเอสเตอร์ ซิงค์ แอนตี้แบคทีเรีย (Polyester Zinc Antibacterial) ป้องกันแบคทีเรีย ทำให้ลดกลิ่นอับ จีวรที่ได้สวมใส่แล้วโปร่งสบาย เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย โดย จีวรรีไซเคิล 1 ผืน จะต้องใช้ขวดพลาสติกชนิด PET จำนวน 15 ขวด และถ้าเป็นผลิตเป็นผ้าไตรจีวร 1 ชุด จะต้องใช้ขวด PET 60 ขวด โดยมีชาวบ้านจิตอาสาในชุมชน มาช่วยกันตัดเย็บ
วิธี บริจาคขยะ
ประชาชนสามารถบริจาคขยะจากขวดน้ำพลาสติก ส่งมาที่วัดจากแดง หากมีจำนวนมาก ทางวัดมีรถที่ได้รับบริจาคมาใช้ดำเนินการไปรับขยะขวดน้ำพลาสติก จากที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น
สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน ในการจัดการกับขยะอย่างยั่งยืน
แนวคิด”รีไซเคิล” วัดจากแดง
พระมหาประนอมกล่าวว่า “พระพุทธองค์ทรงเป็นต้นแบบการรีไซเคิลมาตั้งแต่แรกแล้ว” ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ เมื่อจีวรเริ่มเก่า จะทรงนำจีวรผืนเก่ามาใช้ปูนอน หากผ้าปูนอนของเก่าจะนำไปทำเป็นผ้าสำหรับเช็ดเท้า ส่วนผ้าเช็ดเท้าผืนเก่าก็จะเอาไปผสมดินเหนียวฉาบทากุฏิ เหล่าพระภิกษุสงฆ์ก็ได้ใช้จีวรตามแนวทางนั้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว จะเห็นได้ว่าการถือปฏิบัติเช่นนี้ คือการแสดงออกถึงการเป็นมนุษย์ที่มีความเจริญแล้ว โดยการใช้ทรัพยากรผ้าจีวรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เท่าที่ผ้า 1 ผืนจะทำได้
วัดจากแดงเป็นวัดเก่าแก่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีชุมชนล้อมรอบ มีการทิ้งขยะจากภายในชุมชนเอง และขยะต่างๆ ที่ไหลมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ติดอยู่ที่บริเวณท่าน้ำกองรวมกันเป็นขยะจำนวนมาก จะผลักดันออกไป ก็เป็นการไปสร้างปัญหาให้กับท้องทะเลอีก ผิดวิสัยของความเป็นผู้มีความ “ศิวิไลซ์” พระอาจารย์มหาประนอม ธมฺมาลฺงกาโร (เจ้าอาวาส) จึงได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ในวัดจากแดง โดยศึกษาเรียนรู้และพัฒนาโครงการจัดการขยะ และรีไซเคิลต่างๆ นี้ เรื่อยมา เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี
ต่อมาวัดจากแดงได้เข้าร่วมกับชุมชนต่างๆ ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า รวม 34 หน่วยงาน โดยประสานความร่วมมือภายใต้ชื่อ“OUR Khung BangKachao” ซึ่งมีองค์กรพัฒนาใหญ่ๆ เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ “GC” เป็นต้น กลุ่ม “OUR Khung BangKachao” ที่มีความต้องการที่จะพัฒนาคุ้งบางกะเจ้า ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ “พื้นที่สีเขียว” และพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ของชุมชน
ในระยะแรก ภิกษุสงฆ์ ลูกศิษย์ที่มาเรียนบาลี และชาวชุมชนแวดล้อมบริเวณวัดจากแดง ช่วยกันจัดการคัดแยกขยะ บางส่วนนำไปทำเป็นปุ๋ยแจกจ่ายให้ชาวชุมชน บางส่วนก็นำไปชั่งกิโลขายผ่านการประสานงานของ GC กระทั่งวันหนึ่ง ได้มีโยมท่านหนึ่งมาถวายสังฆทาน และได้เล่าว่าเสื้อยืดของตนทำมาจากขวดน้ำพลาสติก ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรหากจะทำเป็นจีวรพระขึ้นมาได้บ้าง
พระอาจารย์มหาประนอม ธมฺมาลฺงกาโร จึงเสนอเรื่องจีวรรีไซเคิลจากขยะขวดพลาสติกนี้กับทีมงาน GC และนำมาสู่การดำเนินการคัดแยกขยะ คัดเอาขวดน้ำพลาสติก มาทำความสะอาด อัดเป็นก้อน ส่งต่อให้ GC นำไปส่งที่โรงงานแปรรูป เพื่อผลิตเป็นผ้าจีวร มีชื่อเรียกวิธีการนี้ว่า “Upcycling” หรือ การชะลอการเกิดขยะ โดยการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ด้วยวิธีนำขวดน้ำพลาสติกมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก เข้าสู่กระบวนการผสานกับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เรยอน (Polyester Rayon) เส้นใยฝ้าย และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ซิงค์ แอนตี้แบคทีเรีย (Polyester Zinc Antibacterial) เพื่อช่วยป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ ทำให้เนื้อผ้ามีความนุ่ม จากนั้นก็นำไปย้อมสีจีวรตามพระวินัย ส่งกลับมาให้ทางจิตอาสาชาวชุมชนรอบวัดจากแดง ช่วยกันตัดเย็บเป็นจีวร ส่งจำหน่ายไปให้กับร้านค้าตัวแทน ผู้จัดจำหน่ายสังฆทาน ต่อไป
https://www.facebook.com/deqpth/videos/695797924227359/
วีดีโอโปรโมท ทำบุญ ลด ละ เลิก ถุงพลาสติก จาก เพจ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คลิกดู
โพสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
- ช่อง 3 อาสาทำดี ผ้าป่าขยะรีไซเคิล สร้างบุญ 2563
- ร่วมงานทอดผ้าจุลกฐิน รีไซเคิล
- ยินดีต้อนรับการประชุม “การจัดการขยะอย่างยั่งยืน”
- ผ้าบังสุกุลจีวร จากขวดพลาสติก รีไซเคิล ณ วัดจากแดง
- ทอดผ้าจุลกฐินสามัคคี สมทบทุนสร้าง อาคารเรียนพระไตรปิฎก
- ทอดผ้าจุลกฐิน รีไซเคิล
- ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพกฐินสามัคคี
- ร่วมทอดกฐินสามัคคี-กฐินกาล
- พายเรือเพื่อเจ้าพระยา ร่วมทอดผ้าป่าขยะหัวเรือ
การกล่าวถึง(citation):
วัดจากแดง. (2562). พายเรือเพื่อเจ้าพระยา ร่วมทอดผ้าป่าขยะหัวเรือ 10-11 ต.ค. 62. เข้าถึงได้จาก https://www.watchakdaeng.com/2019/rowing-for-the-chaophraya/