โรคซึมเศร้า เยียวยาได้ด้วยธรรม

โรคซึมเศร้า เยียวยาได้ด้วยธรรม

พระมหาประนอม เจ้าอาวาส วัดจากแดงโรคซึมเศร้า เยียวยาได้ด้วยธรรม จาก คอลัมน์ วิสัชนาธรรม วารสารโพธิยาลัย ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๘ ประจำเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๓ โดย พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เผยแพร่ซ้ำอีกครั้งโดยทีม admin วัดจากแดง ในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 ระบาดรอบใหม่

ปัจจุบันนี้คนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน มีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่ง ที่เข้ารับการรักษา และ การรักษานั้น ถ้ารักษา อย่างต่อเนื่อง ๖ – ๙ เดือน โรคซึมเศร้าก็หายได้ แต่ถ้าไม่เข้ารับการรักษา หรือหากรักษากระท่อน กระแท่น โรคนั้นก็ยังไม่หาย การรักษาในทางการแพทย์โดยการใช้ยาก็เป็นการแก้ไขเหตุปัจจุบันทันด่วน แต่ถ้าเราทราบสาเหตุของโรค วิธีการรักษาก็จะง่ายขึ้น โดยเฉพาะถ้ารู้จักป้องกันโรคไม่ให้เกิด สำหรับการรักษานั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การป้องกันไม่ให้เกิด จึงเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ

โบราณบอกว่า ให้ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม โรคซึมเศร้าก็เช่นกัน เป็นแล้วไม่รีบรักษา ก็จะยิ่งทำให้หายยาก แต่ถ้าได้รับการรักษารวดเร็วทันที ก็จะมีโอกาสหายมากกว่า เราไม่รู้หรอกว่า อาการของคนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้น เขามีอาการเป็นอย่างไรบ้าง เช่น น้อยใจ มองโลกในแง่ร้าย มองตนเองไร้คุณค่า หรือ ชีวิตที่ประสบความวิบัติ เช่น สูญเสียคนรัก สูญเสียทรัพย์สมบัติ การสูญเสียเหล่านี้ทั้งหมด ถ้ามีสติ ตั้งสติทัน อาการซึมเศร้าก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะขาดการตั้งสติ เพราะโรคเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้ในชีวิต

May 18, 2020 ภาพข่าวโดย Stefano Kotsonis และ Meghna Chakrabarti เข้าถึงได้จาก https://www.wbur.org/onpoint/2020/05/18/what-we-learn-from-wuhans-coronavirus-testing-approach

สาเหตุของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

พอจะแยกได้เป็น ๒ ประเด็น คือ สาเหตุ ภายใน กับ สาเหตุภายนอก สาเหตุภายใน ก็คือ ภายในผู้ป่วยเอง อดีตเคยทำกรรมอะไรไว้ เช่น การผิดศีลปาณาติบาต ชอบฆ่าสัตว์ ชอบเบียดเบียนสัตว์ หรือ ชอบเสพสิ่งเสพติด การทำกรรมด้วยการผิดศีลเหล่านี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดโรค ป่วยเป็นโรคอย่างนี้ขึ้นได้

ทางแก้ไข ก็คือ หันกลับมารักษาศีล คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มสุราเมรัย รักษาศีล ๕ ไว้ให้ดี กุศลกรรมจากการรักษาศีล ก็จะไปช่วยให้โรคซึมเศร้าทุเลาเบาบางลงได้ หรือ ถ้ารักษาศีลได้อย่างมั่นคง ก็จะทำให้ไม่เกิดโรคขึ้น ฉะนั้น กล่าวได้ว่าโรคซึมเศร้าส่วนหนึ่ง เกิดมาจากกรรมของตนเอง คือ อกุศลกรรมจากการผิดศีล เป็นสมุฏฐาน คือปัจจัยภายในของผู้ป่วย อีกสมุฏฐานคือ สาเหตุภายนอก ได้แก่ อารมณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบจิต เช่น เห็นเป็นรูปสวย ๆ หรือ รูปไม่สวย เสียงไพเราะ เสียงไม่เพราะ กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น รสอร่อย รสไม่ถูกใจ สัมผัสสบาย สัมผัสไม่สบาย สิ่งเหล่านี้เมื่อเข้ามากระทบจิตแล้ว ถ้าไม่เอาสติสัมปชัญญะไปควบคุมไว้ เมื่อจิตไปรับรู้จะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อเห็นสิ่งที่ถูกใจก็อยากได้ถ้ามันหายไป มันสูญไป ก็เกิดเสียใจ เสียใจมากก็ซึมเศร้าหรือเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ ก็เกิดโทสะ แล้วเก็บเอาสิ่งที่ไม่ถูกใจมาคิดปรุงแต่งต่อ ก็จะเกิดอาการซึมเศร้า

เมื่อได้ยินเสียงที่ไม่ดีก็ไม่พอใจ เก็บมาปรุงแต่ง ก็ซึมเศร้า ได้ยินเสียงเพราะ ๆ แต่เสียงนั้นมันหายไปกระทันหัน ก็เสียใจขึ้นมา เก็บมาปรุงแต่งต่อ ก็จะเกิดอาการซึมเศร้า

เมื่อได้กลิ่นหอมๆ อยากให้กลิ่นอยู่นาน ๆ กลิ่นมันหายไปก็เสียใจ เก็บมาปรุงแต่งต่อ ก็เกิดอาการซึมเศร้า เจอกลิ่นเหม็น ๆ เกิดโทสะ เก็บมาปรุงแต่งต่อ ก็จะเกิดอาการซึมเศร้า

เมื่อได้รสอร่อย ๆ แต่รสนั้นมันหายไป มันหมดไป ก็เกิดอาการเสียใจ เก็บมาปรุงแต่งต่อก็ซึมเศร้า ได้รสไม่ถูกใจ ก็เกิดโทสะ เก็บมาปรุงแต่งต่อ ก็ซึมเศร้า

เมื่อได้อยู่กับอากาศเย็น สบาย ๆ แต่อยู่ ๆ อากาศนั้นก็เป็นพิษ กลายเป็นฝุ่นละออง PM 2.5 ขึ้นมาแทนที่ ก็เสียใจเก็บมาปรุงแต่งต่อ ก็ซึมเศร้า

ทางแก้ คือ พิจารณาสิ่งทั้งหมดเหล่านี้ อารมณ์ที่ไปรับสิ่งที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราขาดสติสัมปชัญญะ มันจะลุกลามเข้าไปควบคุมจิต เข้าไปดูแลจิตแทนสติ จิตจะมีอาการ รวนเร แปรปรวนไปตามอารมณ์ภายนอกที่มากระทบ เกิดความโลภ ความโกรธ ความลุ่มหลง เก็บมาปรุงแต่งต่อไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น เป็นอาการซึมเศร้าที่เกิดจากสาเหตุภายใน คือ การขาดสติขาดสัมปชัญญะ ไปควบคุมจิต นั่นเอง

กรุงเทพ ฝุ่น PM 2.5

ส่วนสาเหตุภายนอก คือ อุตุ อากาศกำลังวิปริตร้อนจัด อากาศร้อนก็ทำให้คนป่วยได้ ทำให้สุนัขบ้าได้มากกว่านั้น ร้อนจัด ๆ ร้อนต่อเนื่อง ก็ทำให้ซึมเศร้าได้ ฝุ่นละอองมาก ๆ PM 2.5 มาก ๆ ก็ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ร่างกายอ่อนแอ จิตใจก็ซึมเศร้าได้

เพราะฉะนั้น อากาศภายนอกซึ่งเรียกว่าอุตุ หรืออากาศนี้ มันเย็นจัด ร้อนจัด หรือมีฝุ่นละอองมากจัด มันก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ร่างกายอ่อนแอก็ทำให้จิตใจ อ่อนแอก็เกิดอาการซึมเศร้าขึ้น ฉะนั้น ก็ต้องแก้ที่อากาศ ช่วยกันทำความสะอาด คัดแยกขยะ ปลูกต้นไม้มาก ๆ ก็คือ แก้ตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ อาหาร ก็ยังเป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งเช่นกัน ต่อให้อาหารดี แต่ถ้าเจือปนสารเคมี เมือทานเข้าไปแล้ว ตอนแรก ๆ ก็ถูกใจ เพราะมันอร่อยดี ทานไปทานมา ก็เริ่มติดใจในรสชาติที่เกิดจากสารเคมี เช่น ผงชูรส หรือสารเคมีบางอย่าง ที่ทำให้เกิดอาการเสพติดรสชาติ

ฉะนั้น ถ้าอาหารมีสารเคมี ทำให้รสชาติอร่อย หรืออาหารที่มีสารเคมีที่เป็นพิษปนเปื้อน เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง หรือ พืชที่ตัดต่อพันธุกรรม GMO จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไปรับประทาน ตอนแรกมันก็จะรู้สึกดี ทานไปทานมา สารเคมีสะสมเกินปริมาณ มากขึ้น ๆ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ป่วยซึมเศร้า ดังนั้นจะแก้ได้ย่างไร ก็ต้องแก้ที่ ลดการใช้สารเคมีในอาหาร ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้สารพิษ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เป็นต้น

ถ้าเราสามารถทำได้ คือ แก้ที่อาการได้สำเร็จ ก็จบ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ต้องได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ เช่น คุณหมอ จิตแพทย์ หรือ พระสงฆ์ หรือ ผู้รู้ที่มีประสบการณ์ที่ให้คำแนะนำในการดูแลจิต ฝึกสติสัมปชัญญะ ตลอดจนได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ได้ข้อมูลที่ดีแล้วก็นำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาแก้ไขตนเอง


พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโรสรุปสาเหตุภายใน ภายนอก

สาเหตุภายในนั้นมาจาก กรรม และ จิต ก็แก้ที่ กรรม คือการกระทำ โดยการรักษาศีล ส่วน จิต ก็แก้ที่จิต เอาสติสัมปชัญญะ เข้าไปควบคุม

สาเหตุภายนอก มาจาก อุตุ อากาศที่วิปริตก็แก้ด้วย การเก็บกวาด ทำความสะอาด ลดโลกร้อน ไม่ทิ้งพลาสติก นำไปรีไซเคิลให้หมด แล้วก็ปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อช่วยให้ฝุ่นละอองลดลง อากาศดีขึ้น ก็คือแก้ที่ต้นตอ อาหารที่ใช้สารเคมีในการปลูก เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ใช้สารเคมีในการปรุงแต่งกลิ่น สี รสชาติ เช่น ผงชูรส เป็นต้น ถ้าเราสามารถปรับไปวิถีชีวิตด้วย อาหารชีวจิต การปลูกผักอินทรีย์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้สมุฏฐานที่ทำให้เกิดโรค โรคซึมเศร้าก็จะไม่ตามมา

ฉะนั้น สิ่งที่เราเก็บมาย้ำคิดย้ำทำ เป็นการปรุงแต่ง ที่จริงอารมณ์เก่านั้นมันหายไปแล้ว แต่เราเก็บอารมณ์เก่ามาปรุง คนที่เราโกรธ เขาหายไปแล้ว แต่เราเก็บอารมณ์เหล่านั้นมาปรุงแต่งต่อ สุดท้ายคือเราเองที่ต้องเผชิญกับอารมณ์เหล่านี้ นี่ก็คืออาการ โรคซึมเศร้า


การแก้ปัญหา โรคซึมเศร้า ในทางพุทธศาสนา

อาการซึมเศร้าที่เป็นกับคนไทย ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน ทราบว่าครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เข้ารับการรักษา อีกครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับการรักษา ยังไม่ยอมรับว่า ตัวเองเป็นโรค ไม่ยอมเปิดใจ ไม่ยอมรับ ฉะนั้นผู้ที่มีความรู้ ต้องให้ความรู้ ต้องให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

ในทางศาสนาก็ใช้หลักพรหมวิหาร และหลักกฎแห่งกรรม หลักพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เมตตาพรหมวิหาร คือ พยายามแผ่เมตตาให้มาก ฝึกแผ่เมตตาให้กับตนเอง ฝึกแผ่เมตตาให้กับผู้อื่น แผ่เมตตาให้กับตนเอง เช่น

  • อะหัง สุขิโต โหมิขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
  • อะหัง นิททุกโข โหมิปราศจากความทุกข์
  • อะหัง อะเวโร โหมิปราศจากเวรภัย
  • อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิปราศจากอุปสรรค เบียดเบียน
  • อะหัง อะนีโฆ โหมิปราศจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
  • สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิจงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหมดทั้งสิ้นเทอญ

แผ่เมตตามาก ๆ จนตัวเราเกลียดความทุกข์ รักความสุขขึ้นมาจริง ๆ หลังจากนั้นก็แผ่เมตตาให้คนใกล้ชิด ให้พ่อแม่ ให้ญาติสนิท มิตรสหาย เพื่อน ๆ สุดท้ายก็คนที่เป็นศัตรูคู่เวรแล้วจึงเหมารวมว่า

  • สัพเพ สัตตาสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
  • อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
  • อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
  • นิททุกขา โหนตุจงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
  • สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุจงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหมดทั้งสิ้น เทอญ

เมตตา กับ โทสะ เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน เมื่อเสียใจมาก ๆ ก็เศร้าโศก และสุดท้ายก็ซึมเศร้า จุดเริ่มต้นของโรคก็คือ เสียใจ เศร้าโศก แล้วก็ซึมเศร้า หากอาการมัน หนักลง ๆ ควรใช้การแผ่เมตตา จะหยุดโทสะ หยุดความโกรธ ความเสียใจ เมื่อความโกรธและความเสียใจไม่เกิด ความซึมเศร้าก็ไม่เกิด ฉะนั้น ควรใช้เมตตาเป็นตัวแก้โดยตรง

เทศน์ โควิด พระประนอม วัดจากแดง

บางครั้ง พอเราเห็นคนดี ๆ ถูกรังแกถูกใส่ร้ายมันก็มีอาการซึมเศร้าขึ้นมาได้ ก็ให้แผ่กรุณาว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังมีทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ใครก็ตามที่กำลังถูกเบียดเบียน ขอให้เขาจงพ้นจากทุกข์คือการเบียดเบียนเถิด แผ่กรุณาก็หยุดซึมเศร้าได้

อีกอย่างหนึ่งคือ แผ่มุทิตา หากเรามัวคิดว่า ใครที่เก่งกว่าเรา เฮงกว่าเรา รวยกว่า สวยกว่า หล่อกว่าเรา เราก็เพียงแสดงมุทิตาพรหมวิหารว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีความสุขแล้ว ขอให้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป ทรัพย์สมบัติความรู้ของเขาจงอย่าพินาศไป มิฉะนั้นเราก็จะเกิดอิจฉาตาร้อน แล้วก็เกิดอาการริษยาสุดท้ายก็น้อยใจ เขาดีหมด เราไม่ดีเก็บมาคิด สุดท้ายเราก็เป็นโรคจิตซึมเศร้าตามมา แต่ถ้าเรามีมุทิตาพรหมวิหาร เราไม่อิจฉาตาร้อน เราก็จะไม่ซึมเศร้า

สุดท้ายก็คือ อุเบกขาพรหมวิหาร ใครก็ตามที่กำลังจากเราไป คนรักกำลังจะจากไป ทรัพย์สมบัติกำลังจะจากไป สิ่งที่หวังกำลังจะจากไป กำลังเกิดขึ้น จะทำอย่างไรดี ให้ใช้หลักอุเบกขา พรหมวิหารอุเบกขา คือทำอย่างไร คือ การพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งมีกรรมเป็นที่อาศัย ใครทำกรรมใด ก็จะได้รับกรรมนั้น ไม่ว่ากรรมดีก็ตาม ไม่ว่ากรรมชั่วก็ตาม ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน ใครทำอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น ถ้าพิจารณาเห็นว่า หากปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ เราก็จงมีสติรู้ว่า “อ๋อ มันไม่ได้ดั่งใจ เพราะมันมีเหตุมีปัจจัย มันจะเกิดขึ้น มันก็เกิด”

สิ่งเหล่านี้ขอฝากทุกท่านไว้ให้เกิดความเข้าใจ แล้วก็สามารถช่วยแก้ปัญหาโรคซึมเศร้า โดยใช้หลักศีลและพรหมวิหาร การรักษาทางการแพทย์ก็จะใช้ยาบำบัดแต่ในทางพุทธศาสนา ใช้ศีลและสมาธิจากพรหมวิหารทั้ง ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และเจริญพรหมวิหาร ให้มากอย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง โรคซึมเศร้าก็จะไม่เกิด ฉะนั้น ขอให้ทุกท่านที่กำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้า จงหายจากโรคซึมเศร้าโดยเร็วพลัน เทอญ


พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร. (2563). วิสัชนาธรรม :โรคซึมเศร้าเยียวยาได้ด้วยธรรม. วารสารโพธิยาลัย,  5(58), 3-6.


คำสืบค้น: การรักษาโรคซึมเศร้า ด้วยธรรมะ ธรรมะรักษาโรคซึมเศร้า วิธีรักษาโรคซึมเศร้า ด้วยตัวเอง ทางออก โรคซึมเศร้า คนเป็นโรคซึมเศร้า ควรแก้ด้วยการเจริญธรรมใด โรค ซึม เศร้า เข้าวัด โรคซึมเศร้า ปฏิบัติธรรม


โพสอื่น ๆ ที่คล้ายกัน:

โรคซึมเศร้า เยียวยาได้ด้วยธรรม