MONO29 NEWS – GC กับ จีวรรีไซเคิล จาก ขยะพลาสติก ได้บุญแบบ Circular Economy
GC กับ จีวรรีไซเคิล จาก ขยะพลาสติก ได้บุญแบบ Circular Economy รายการ เรื่องเด่นประเด็นดัง (Top Talk Daily) ออกอากาศทางช่อง Mono29 เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวโดย พิภู พุ่มแก้วกล้า สัมภาษณ์ พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
“พลาสติกมีประโยชน์ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง แค่ใช้ให้ถูกวิธี พลาสติกก็ไม่ใช่ผู้ร้ายอีกต่อไป แถมได้บุญด้วย”
เรื่องเด่นประเด็นดัง ทางช่อง Mono Twenty Nine ช่อง 29 นำผู้ชมมาฟังเรื่องราวดีๆ ที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน ในการทำประโยชน์ให้กับสังคม พื้นที่ตำบลทรงคนอง พื้นที่สีเขียว ที่มีชื่อเรียกกันว่า “คุ้งบางกะเจ้า” อยู่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หลายคนรู้ว่าออกซิเจนที่นี่เยอะ เพราะมีโครงการความร่วมมือของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ที่ได้เล็งเห็นว่า นวัตกรรมที่มาจากหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่รู้จบ (Circular Economy) กุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพียงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (recycle) โดยนำมาปรับใช้เป็น GC Circular Living คือ งาน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการทรัพยากรตามหลัก 5Rs ภายในองค์กร คือ Reduce (การลดการใช้) Reuse (การใช้ซ้ำ) Recycle (การแปรรูปมาใช้ใหม่) Renewable (การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน) และ Refuse (การปฏิเสธ)
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ BioPlastic ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ การยกเลิกการผลิตเม็ดพลาสติก สำหรับการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single Used Plastic ภายใน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2566 หรือการจัดการขยะพลาสติก ผ่านโครงการ และกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น โครงการ ที่วัดจากแดง : ร่วมมือกับ GC รับบริจาคขวดน้ำพลาสติกเพื่อนำมา Upcycling เป็นจีวร ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า บริษัท GC ต้องการให้คนในสังคมเห็นว่า ขยะพลาสติกเหล่านี้สามารถก่อให้ประโยชน์ได้อย่างไร อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่ และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้อีกด้วย #UpcyclingTheOceansThailand #EcoalfFoundation #GC #TAT #BecauseThereIsNoPlanetB #actnow #CircularEconomy
พระวัดจากแดง สวมใส่จีวรที่มาจากขยะพลาสติกจริงๆ หรือ แล้วดียังไง?
คำตอบก็คือ ใช่ แม้ไม่ได้สวมใส่จีวรที่ทำมาจากขยะขวดพลาสติกทุกวัน แต่อย่างน้อยพระทุกรูปก็มีไว้อย่างน้อย 1 ผืน จีวรที่พระมหาประนอม ผู้ให้สัมภาษณ์นี้ ทำมาจากขยะขวดน้ำพลาสติก เป็นผืนที่พิเศษตรงที่ เป็นชุดต้นแบบผืนแรกที่ทดลองใช้และสวมใส่เรื่อยมา ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2561 (2 ปี) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ สวมใส่สบาย ไม่คัน ซักง่าย แห้งเร็ว ไม่ยับง่าย ไม่ต้องรีด และที่สำคัญคือ ไม่มีกลิ่นอับชื้น เพราะมีการใช้นวัตกรรม ผสม ซิงค์ นาโน (Zinc Nano) ช่วยแอนตี้แบคทีเรีย ตากในร่มจนแห้ง ไร้กลิ่นอับ
ความเป็นมาของโครงการต่างๆ ในวัดจากแดง?
เริ่มตั้งแต่ ปี 2561 พระมหาประนอม มีโครงการที่จะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ รวม 6 ด้าน ได้แก่ พัฒนา 1.แหล่งน้ำ 2.พื้นที่สีเขียว 3.การจัดการขยะ 4.การศึกษา 5.การท่องเที่ยว 6.ส่งเสริมอาชีพชุมชนโดยรอบ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นได้เนื่องด้วย มูลนิธิชัยพัฒนา ได้เข้ามาสำรวจบริเวณคุ้งบางกะเจ้า เพื่อที่จะพัฒนาพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้ใหญ่ แห่งนี้ ให้มีลักษณะเป็นเหมือนปอดสำหรับคนกรุงเทพฯ โดยส่งเสริมความรู้ สนับสนุนผู้นำชุมชน และงบประมาณจากภาคเอกชน องค์กร ต่างๆ ให้เข้ามาช่วยสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่ทางชุมชนต้องการ ทางวัดจากแดงเองก็ได้มีการดำเนินการ เรื่อง บริหารจัดการขยะภายในวัดและชุมชนโดยรอบอยู่พอดี ก็เห็นควรว่า วัดนี้เหมาะที่ทำเป็นแหล่งเรียนรู้ และรณรงค์ เรื่อง การคัดแยกขยะ
สอดคล้องพอดีกับที่ทาง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กำลังทำโครงการ GC Circular Living พอดี จึงเข้ามาถามว่า “ที่นี่ต้องการให้ช่วยอะไร…” จากนั้น GC ก็ช่วยเป็นสปอนเซอร์ให้ ช่วยสนับสนุนกิจกรรม นวัตกรรม โดยเฉพาะผ้าไตรจีวรจากขยะขวดน้ำดื่มพลาสติก ซึ่งเป็นของเหลือใช้ หรือเป็นขยะมาก่อน
ไอเดีย ในการนำขวดน้ำพลาสติกมาทำเป็นจีวรพระ?
พระมหาประนอม ได้เคยเดินทางไปศึกษาดูงาน การรวมพลังจิตอาสาช่วยกันคัดแยกขยะของ มูลนิธิฉือจี้ (TzuChi) ที่ไต้หวัน เมื่อ 15 ปีที่แล้ว และได้เห็นว่า มีการนำเอาขวดน้ำไป Upcycling ทำเป็นเสื้อผ้า จนเมื่องประเทศไทยรณรงค์ลดปัญหาขยะพลาสติก เห็นว่าน่าจะนำขยะขวดพลาสติกทำเป็นจีวรพระได้ จึงเอ่ยถึงความต้องการนี้กับ GC ที่เข้ามาสอบถามว่าต้องการให้ช่วยอะไรพอดี จากนั้นก็มีการประชุมประสานงาน ตัวแทนโรงงานรีไซเคิล และเริ่มทดลองทำ จนสำเร็จในเวลา 4 เดือน ทำออกมาเป็นผ้า ย้อมสี ปรับแก้ไขสีย้อมให้ตรงตามหลักพระวินัย แล้วก็ตัดเย็บเป็นจีวรสวมใส่จริง โดยได้ทดลองใช้ด้วยตนเองเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าผ้าจีวรจากขวดน้ำพลาสติกนี้ สามารถใช้งานได้จริง จึงเริ่มประกาศขอรับบริจาคขวดน้ำพลาสกติก เพื่อนำมาทำจีวร จากนั้นก็เริ่มมีคนเอามาบริจาคเรื่อยมา
เสียงตอบรับจากผู้คน?
แรกเริ่มก็เจอปัญหาว่า บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ เป็นจริงหรือ เอาขวดมาทําจีวร พระโกหกหรือเปล่า หลอกลวงหรือเปล่า คนจะสงสัยและตั้งคำถามเรื่องนี้เสียมาก ก็เลยเปิดเป็น ศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อม วัดจากแดง ให้คนมาดูกระบวนการต่างๆ เริ่มตั้งแต่ 1. การคัดแยกขวด 2. อัดเป็นก้อน 3. ไปบดที่โรงงาน 4. พิมพ์ออกมาป็นเส้นใย 5. ผสมเส้นใยฝ้ายกับเส้นใยพลาสติก และซิงค์ นาโน 6. ย้อมสี 7. ทอออกมาเป็นม้วนผ้า 8. ส่งกลับมาให้ช่างตัดเย็บเป็นจีวรพระขึ้นมา เรียกว่า ทางวัดจากแดงทำหน้าที่เป็นต้นทาง รับคัดแยกขยะ แล้วนำส่งต่อไปยังกลางทาง คือโรงงานรีไซเคิล และปลายทางคือแปรรูปผ้าเย็บออกมาให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทุกคนจึงเข้าใจ และรู้ว่าเป็นไปได้จริงๆ
กระบวนการ Upcycling เป็นผ้าจีวร ใช้เวลา?
ตั้งแต่ต้นจนจบใช้เวลา 4 เดือน นับจากเริ่มตรวจรับ คัดแยก บีบอัด สะสมรวบรวมให้ได้อย่างน้อย 10 ตัน นำใส่รถบรรทุกได้พอดี แล้วนำไปส่งที่โรงงานรีไซเคิล ซึ่งปกติทางโรงงานจะมีขวดพลาสติกเข้ามาวันละ 25 ตัน ดังนั้น 10 ตันของวัดจากแดงก็จะรวมอยู่ในระบบ ทางวัดจะได้รับ ผลผลิต คิดเป็นปริมาณ 10 ตัน เป็นใยผ้านำไปย้อมทอเป็นม้วนผ้า แล้วนำเอาไปตัดเย็บทำจีวร หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป
สังคมได้รับอะไรจาก ขยะกลายเป็นจีวรพระ?
เพื่อให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า “จากของที่ต่ำสุด กลายมาเป็นของที่มีคุณค่าสูงได้” จากขยะที่ทุกคนทิ้งกันอย่างมากมาย และตัดสินไปว่าเป็นสิ่งต่ำ ของใช้แล้ว เสียแล้ว กลับกลายมาเป็นผ้าจีวรที่เป็นสิ่งมีคุณค่าสูง มีมูลค่าเป็นเงิน เป็นสิ่งแทนการทำบุญได้นั้น มันสะท้อนให้เราได้เห็นถึงความแตกต่างในการใช้ปัญญา มองในสิ่งเดียวกัน แต่เห็นเป็นคนละอย่าง คนนึงมีสติปัญญายังไม่มากพอก็มองเห็นเป็นแค่กองขยะ แต่อีกคนมีสติปัญญาสูงสามารถมองเห็นกองขยะเป็นทองคำได้ นี่คือ สิ่งที่สังคมควรตระหนัก
บริจาคขยะ ในทางพุทธศาสนา ทำแล้ว ได้บุญ?
ย้อนไปในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ช่วงพรรษาที่ 6 ของพระองค์ ทรงเก็บผ้าจากกองขยะ ผ้าห่อศพ นำมาซัก ย้อม และเย็บให้เป็นจีวรสวมใส่ ที่เราเรียกว่า “ผ้าบังสุกุลจีวร” ยังไม่พอ หลังจากที่จีวรผืนนั้นใช้งานไม่ได้แล้ว ก็เอาไปทำเป็นผ้าปูนอน ผ้าปูนอน เมื่อไม่สามารถใช้งานอีกได้แล้ว ก็เอาไปทำเป็นผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดเท้า และท้ายที่สุดก็นำไปผสมดินเหนียวที่ใช้สำหรับโบกฉาบทากุฏิ นี่คือเทคโนโลยีในยุคนั้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าปฏิบัตินั้น เป็นองค์ความรู้ที่ไม่ล้าสมัยเลย เราก็ยังนำมาปฏิบัติใช้กันได้ในทุกวันนี้ แล้วเรียกว่า Circular Living เรามีอารยธรรมอันสูงส่งมาตั้งแต่ยุคพุทธกาลแล้ว ดังนั้นถ้ามีโยมถวายผ้าจีวรนี้แล้วถามว่า ได้บุญไหม คำตอบก็คือ ได้บุญมหาศาล เพราะถวายผ้าแบบนี้ ก็คือ ต้องเป็นคนที่มีปัญญามองเห็นถึงการแก้ปัญหาขยะอย่างครบวงจร อย่างรู้ค่า ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เมื่อเห็นคนแบบนี้ถวายจีวรพระที่ทำจากขวดน้ำพลาสติก ก็รู้ได้ทันทีว่า คนๆ นี้ ปัญญาได้เกิดขึ้นแก่เขาแล้ว หรือถ้าหากจะมองขยะ ในความเป็นบุญเป็นกุศลนั้น เพียงแค่เราปฏิบัติ เก็บคัดแยกขยะให้เป็นที่เป็นทาง ก็ถือว่า ได้บุญแล้ว มีอานิสงส์ 5 อย่าง 1.มนุษย์รักใคร 2.เทวดารักษา 3.มีความสุข 4.ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และ 5.วิมานบนสวรรค์เกิดรอ
โครงการส่งเสริมให้คนเกิดปัญญานี้ ประสบความสำเร็จรึยัง?
ในมุมมองแบบคนทั่วไป อาจคิดว่ามันสำเร็จแล้ว แต่จริงๆ แล้วนี่คือแค่เริ่มต้นนับหนึ่ง เพราะยังไม่ได้ขยายไปทั่วทั้งประเทศ เมื่อใดก็ตามที่ทุกวัด ทุกคนในสังคม พากันคัดแยกขยะอย่างเป็นเรื่องปกติสุข นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ความสำเร็จ ดังนั้น ก้าวที่สองก็คือ ออกไปเชิญชวนวัดทุกวัด โรงเรียนทุกโรงเรียน หมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ให้ทำกัน
รณรงค์ทุกวัด ทุกโรงเรียน ทุกหมู่บ้าน เป็นไปได้?
มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะทำไปแล้ว เฉพาะในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า วัดบางน้ำผึ้งใน วัดบางน้ำผึ้งนอก วัดบางกอบัว วัดบางกะเจ้ากลาง วัดบางกระสอบ เรียกว่า ทุกบาง ได้เข้ามาเรียนรู้ และกลับไป “ทำทันที” (ททท.) คือ เก็บ คัดแยก บริจาคให้วัดจากแดง ตอนนี้มีวัดหลายๆ แห่ง ที่อยู่ไกลๆ ก็เข้ามาติดต่อ อย่างเช่น วัดนายโรง วัดพระราม 9 วัดธรรมมงคลแห่งนี้ก็ได้ยกทีมสามเณร เข้ามาเรียนรู้แล้วนำกลับไปทำที่วัด คิดว่าเมื่อหลายๆ วัดเข้ามาเรียนรู้การจัดการขยะที่วัดจากแดงมากขึ้น ในอนาคต การรณรงค์ในเรื่องคัดแยกขยะนี้ ก็อาจสำเร็จได้
วิธีคัดแยกขยะ ประเภทขวดพลาสติก?
ขวดพลาสติก ประเภท PET ก่อนที่จะนำมาบริจาคเพื่อใช้ทำเป็นจีวรพระ เพียงแค่แยกฝา แยกฉลากหรือสติกเกอร์ ออกจากกัน โดยปกติแล้วขวดที่ผลิตในประเทศจะมาจากแหล่งผลิตเดียวกัน และได้กำหนดให้เป็นขวดชนิดที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้
GC ยังเข้ามาดูแลต่อเนื่องอยู่หรือไม่?
ทุกวันนี้เป็นการทำงานร่วมกันไปแล้ว คือ เข้ามาประชุมวางแผนว่า จะทำอะไรต่อไป อย่างเช่น ตอนนี้เริ่มมีการวางแผนที่จะขยายขอบเขตการรับบริจาค แต่เดิมเคยรับแต่ขวดน้ำพลาสติก จากนี้ก็จะขอรับบริจาค ถุงพลาสติก ถุงแกง ถุงหิ้วทุกชนิด (พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง) สามารถส่งมาที่วัดจากแดง นำไปเข้าเครื่องไพโรไลซิส ที่ทาง GC เตรียมจัดหามาติดตั้งให้ มันเป็นเครื่องนึ่งพลาสติกให้กลายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล แก๊ส และถ่านหิน ซึ่งทาง GC ได้มาเห็นเครื่องที่ทางวัดหามาทำกันเอง มันเล็กเกินไป จึงเตรียมจัดหาเครื่องขนาดใหญ่ เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งานรองรับพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวนี้ ได้ทีละ หลายๆตัน ก็จะเป็นการทำให้พลาสติกจำนวนมากในประเทศนี้หายไป กลายเป็นน้ำมัน
โครงการอื่นๆ ?
ขยะโฟมนำมาผสมทินเนอร์ทำเป็นกาว หากนำโฟมมาผสมซีเมนต์ก็จะทำเป็นกระถางปลูกต้น ทำเป็นอิฐตัวหนอน อิฐบล็อก โฟมบางส่วนนำมาทำเป็น เรือ แล้วติดเครื่องยนต์ขนาดเล็ก ใช้ในส่วนงานจิตอาสาเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา โฟมที่เหลือก็นำไปนึ่งทำเป็นน้ำมันได้อีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีขยะขวดแก้ว เศษแก้ว นำมาบด หลอมขึ้นรูปใหม่ Upcycling ทำเป็นพระพุทธรูปจากเศษแก้ว ทำเป็นบาตรพระจากเศษแก้ว หรือใช้ทำเป็นทรายกรองน้ำก็ยังได้
โพสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
- สังฆะเพื่อสังคม ภารกิจ นำ ขวดพลาสติก มาผลิตเป็น จีวร
- Greenery Talk 2020: กรีนให้ได้ กินให้ดี ณ หอศิลปกรุงเทพฯ
- วันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ. 63 วัดจากแดง SUNSHINE RUN เดิน วิ่ง เพื่อการกุศล และสุขภาพ
- แม็คโคร รณรงค์ แยกขยะเท่ากับลดขยะ กับ ถุงขยะแชมเปี้ยน
- บตท. จัดกิจกรรม FINGREEN รับบริจาคขวดพลาสติก ร่วมทำจีวรรีไซเคิล
- พายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ ปีที่ 2 สำนักข่าวไทย TNAMCOT
- พายเรือเพื่อเจ้าพระยา ร่วมทอดผ้าป่าขยะหัวเรือ
- จิตอาสา วัดจากแดง ร่วมกับ Trash Hero ลุยเก็บขยะพร้อมกันทั่วโลก
- คณะนักศึกษาวิสุทธิมรรค ทุกวันพุธ ถวายยานพาหนะ วัดจากแดง
- โครงการ ฝึกอาชีพ ทำปุ๋ยอินทรีย์ และ ปลูกผักปลอดสารพิษ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ผ้าบังสุกุลจีวร จากขวดพลาสติก รีไซเคิล ณ วัดจากแดง