จีวรลดโลกร้อน จากขยะสู่ ผ้ากาสาวพัสตร์ “วันใหม่วาไรตี้” ไทยพีบีเอส

บางคนไม่เคยพบ ไม่เคยเห็นการรีไซเคิลพลาสติก  รีไซเคิลขวดน้ำ นำไปทำ ของรีไซเคิล ทำเป็นผ้าได้ บางคนก็พูดว่า “งมงาย จะเอาขยะพลาสติกไปทำเป็นผ้าได้ยังไง ถ้าโดนไฟเข้า เดี๋ยวมันก็ไหม้หมด” จีวรลดโลกร้อน จากขยะสู่ ผ้ากาสาวพัสตร์ ในช่วง “วันใหม่วาไรตี้” รายการ วันใหม่ ไทยพีบีเอส ออกอากาศทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 10.00 น. ดำเนินรายการโดย (ปูเป้) ภคนันท์ ธนาศรม ช่วง ประเด็นสังคม พาผู้ชมไปพบกับประโยชน์ รีไซเคิล อีกหนึ่งความพยายามในการ รีไซเคิลขยะพลาสติก  รีไซเคิลของเหลือใช้ ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก หลายฝ่ายเห็น ความสำคัญของการรีไซเคิล รณรงค์ให้มี การลดใช้พลาสติก แม้ว่าปัญหาของขยะพลาสติก จะยังคงทวีความรุนแรง มีขยะจำนวนมหาศาล หลุดรอดไหลลงสู่ทะเล ทำให้สัตว์ทะเลเสียชีวิตมากมาย เช่น การตายของปลาวาฬที่กินพลาสติกเข้าไป การสูญเสียพะยูนน้อยมาเรียมเพราะกินถุงพลาสติกเข้าไป เป็นข่าวสะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศเมือปี 2562 สะท้อนให้เห็นถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ และสัตว์น้ำในท้องทะเลไทย ถึงขั้นวิกฤตแล้ว

พบขยะในท้องวาฬ 8 กิโลกรัม อุดตันกระเพาะอาหาร
“วาฬนำร่องคลีบสั้น” ตาย สัตวแพทย์ผ่าท้องชันสูตร พบถุงพลาสติก 8 กิโลกรัม อุดตันอยู่ในกระเพาะอาหาร

ของรีไซเคิล มีมาตั้งแต่พุทธกาล?

การลดโลกร้อนด้วยการรีไซเคิลพลาสติทำเป็นจีวรพระ นำโดยพระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง ท่านให้สัมภาษณ์ว่า “ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีการรีไซเคิลแบบโบราณ เรียกว่า ผ้าบังสุกุลจีวร คือ พระพุทธเจ้าจะไปชักดึงผ้าบังสุกุล จากกองขยะ จากผ้าพันศพ ผ้าห่อศพ นำมาซัก และย้อมด้วยน้ำฝาดเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วเย็บเป็นจีวร เมื่อจีวรของพระองค์ใช้จนหมดสภาพแล้ว ก็นำไปรีไซเคิลทำเป็นผ้าปูที่นอน พอที่นอนหมดสภาพแล้วก็นำไปรีไซเคิลทำเป็นผ้าเช็ดเท้า จากผ้าเช็ดเท้านั้นก็นำไปรีไซเคิลเป็นส่วนผสมกับดินเหนียว นำมาเป็นวัสดุโบกฉาบทากุฏิ นั่นคือระบบบังสุกุลจีวรในยุคเมื่อ 2,600 ปี ที่พระพุทธเจ้าได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างไว้ในช่วงพรรษาที่ 6 ของพระองค์”

พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร จีวรลดโลกร้อน ขยะสู่ผ้ากาสาวพัสตร์

อุปสรรค ในการทำโครงการ?

มีพระที่ต่อต้านบ้าง “จะทำไปทำไม..เสียเวลา” ซึ่งนั่นก็เกิดจากความไม่รู้ ไม่เคยเห็นการเอาพลาสติกไปทำผ้า พอมาเห็นเราทำก็ตกใจ “เอาขยะพลาสติกมาทำผ้าจีวรได้อย่างไร.. งมงาย… พระอาจารย์ประนอมนี่หลอกชาวบ้านนะ พลาสติกเอาไปทำเป็นผ้า เดี๋ยวไฟมันก็ไหม้หมด” ท่านอาจารย์ประนอม อธิบายว่า ความที่พระท่านไม่รู้จึงได้พูดไป แต่เมื่อเริ่มมีพระหลายรูปมาดูงาน ได้เห็นของจริง แต่องค์ที่บอกว่า งมงาย ก็คือท่านไม่มาฟัง ไม่มาดู ก็ยังเข้าใจอยู่ว่า ขวดพลาสติกไปทำเป็นจีวรเนี่ย เป็นเรื่องงมงายต่อไป ช่วงแรกๆ ที่ทำงานนี้ก็จะเป็นสภาพแบบนี้ ต่อมาเริ่มดีขึ้น คนเริ่มมาหาความรู้ ยุคนี้ยิ่งหาง่ายขึ้น พบว่าเป็นเรื่องจริงมีมานานแล้ว ก็เก็บขวดมาให้ก็มี ส่งขวดน้ำพลาสติกมาจากทั่วประเทศ โดยใช้วิธีใส่ขวดพลาสติกลงในลังกระดาษ ส่งมาที่วัดทางวัสดุไปรษณีย์ ส่งมาทาง Kerry Express ก็มี ทั้งๆ ที่ น้ำหนักขวดที่ส่งมานั้น เบาเพียง 2 กิโลกรัม แต่ค่าส่ง 60 บาท

ผู้คนเขามีศรัทธา เขาอยากจะร่วมบุญ อยากจะทำบุญ คิดดูสิ พลาสติกกลายไปเป็นจีวรถวายพระได้ ได้ฟังแล้วมันมีความสุขใจ บางคนขับรถมาส่งเองเลยก็มี ยิ่งได้เห็นกับตาตัวเองว่าทำได้จริงๆ ยิ่งศรัทธา ชวนคนรอบๆ บ้าน ญาติพี่น้องมาร่วมมือร่วมใจกันทำ รู้คัดแยกขยะ คนทั้งประเทศร่วมมือกันทำสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราช่วยกันปลุกกระแสได้ทั้งโลก ต่อไปคนก็จะมองสินค้ารีไซเคิล ไม่ใช่ของที่มีเกรดต่ำ หรือไม่น่าใช้อีกต่อไป แต่เป็นของดี ใส่แล้วช่วยลดโลกร้อน ได้บุญ เป็นของที่มีประโยชน์มากมายมหาศาล ตรงนี้แหละที่อยากให้เกิดขึ้น

โรงงานรีไซเคิลขวดพลาสติก เป็นจีวร

ขั้นตอนการแปรรูปขวดน้ำพลาสติก

คุณวงศกร ปัญญาดี พนักงาน โรงงานรีไซเคิล กล่าวว่า เมื่อทางวัดเก็บรวบรวมขวดน้ำพลาสติกได้ 10 ตัน ก็จะส่งมาที่โรงงานรีไซเคิลเป็นเส้นใยพร้อมสำหรับการทอผ้า มีขั้นตอนดังนี้

  • ตรวจแยกพลาสติกออกเป็นส่วนต่างๆ คัดแยกพลาสติกประเภท PET ฝาเป็นประเภท PE และฉลากเป็นประเภท PVC โดยทางโรงงานจะแยกเอาเฉพาะขวดพลาสติก PET เท่านั้น นำไปทำเป็นเส้นใยสำหรับใช้ในการทอผ้าจีวร
  • พลาสติกประเภท PET จะถูกบดโม่ให้เป็นชิ้นเล็กๆ ทำความสะอาดด้วยการต้มในน้ำร้อน 100 องศา เพื่อขจัดคราบน้ำมัน และสิ่งสกปรกทั้งหมดออก
  • นำมาผสมกับส่วนประกอบต่างๆ ตามสูตรผสมของโรงงาน
  • นำวัตถุดิบไปอบไล่ความชื้น ในระบบสูญญากาศ ที่อุณหภูมิ 150 องศา ขึ้นไป เป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง 
  • จากนั้นนำเศษพลาสติกมาหลอม ด้วยหลักการเปลี่ยนของแข็งให้เป็นของเหลว หรือเรียกว่าของไหล ในอุณหภูมิประมาณ 250 องศา จะได้เส้นใยจากแม่พิมพ์ไหลผ่านลมเย็นในทันที วิธีนี้จะทำให้วัสดุที่ได้มีคุณสมบัติ ยืดหยุ่น ไม่ขาดง่าย 
  • นำเส้นใยที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นเหล่านี้ ไปดึงยืด เพื่อได้ขนาดของเส้นใยที่เล็กลง ด้วยการผ่านไอน้ำร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 70 องศาถึง 75 องศา จังหวะนี้จะทำให้เส้นใยมีคุณลักษณะ อ่อนนุ่ม
  • นำเส้นใยที่ยืดจนเป็นเส้นเล็กแล้ว เข้าตู้อบเพื่อไล่ความชื้น ช่วยทำให้เส้นใยมีความแข็งแรง
  • ตัดซอยเส้นใยเป็นเส้นสั้นๆ บรรจุภัณฑ์ส่งไปโรงทอผ้าต่อไป

เส้นใยแปรรูปจากขวดพลาสติก

ขั้นตอนการรีไซเคิลยุ่งยากหรือไม่?

คุณภาคี รวิรุจิพันธุ์ เจ้าของ โรงงานรีไซเคิล ขวดพลาสติกเป็นเส้นใย กล่าวว่า “เส้นใยรีไซเคิล จะมีราคาต่างจากเส้นใยธรรมชาติอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ถ้าเปรียบเทียบในเรื่องคุณภาพในด้านการนำมาใช้ทำเป็นเสื้อผ้าสวมใส่แล้ว เส้นใยรีไซเคิลอาจด้อยกว่าเส้นใยที่เป็นใยฝ้ายนิดเดียวเท่านั้น ส่วนเรื่องของความเหนียวคงทน เรื่องการทำสีย้อมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าที่ ประดิษฐ์ขยะรีไซเคิล แต่ละโรงงานว่าเขาจะเอา ของรีไซเคิล เส้นใยไปผสมกับใยฝ้ายธรรมชาติอย่างไร บางที่อาจใช้เส้นใยรีไซเคิลผสมที่ 5%, 10%, 20% เท่านั้น บางที่ก็ 100% ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมุ่งหวังให้มีต้นทุนการผลิตลดลงอยู่แล้ว  สำหรับใยผ้ารีไซเคิลที่นำมาทำเป็นเครื่องนุ่งหุ่ม  อาจมีคุณสมบัติกระด้างนิดหน่อย เมื่อเทียบกับใยฝ้าย”

ใยสังเคราะห์ โพลีเอสเตอร์ จีวรขวดพลาสติก

ดังนั้นการรีไซเคิลพลาสติกเป็นเส้นใยผ้า จะมีต้นทุนถูกกว่าการผลิตใหม่ที่นำน้ำมันมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก นอกจากจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าแล้ว ก็ช่วยลดปัญหาโลกร้อนไปในตัวด้วย หากจะพูดถึงคุณภาพของผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิล ก็ทำออกมาได้ใกล้เคียงกับ เส้นใยธรรมชาติมากแล้ว โรงงานบางแห่งก็เทคนิคการทำเส้นใยให้มีคุณสมบัติบางอย่างดีกว่าเส้นใยจากธรรมชาติด้วยซ้ำ

เส้นใย ผ้า จีวรรีไซเคิล วัดจากแดง

ขั้นตอนการทำ จีวรพระรีไซเคิล

หลังจากที่ได้เส้นใยสังเคราะห์ที่มีคุณภาพแล้ว ก็จะถูกส่งไปยังโรงงานถักทอเส้นใย ย้อมสีตามหลักพระวินัยทอออกมาเป็นม้วนผ้า และส่งกลับมาที่วัดจากแดง ซึ่งจะมีช่างตัดเย็บจีวรพระที่เชี่ยวชาญมาสอนชาวบ้านโดยรอบชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดเย็บด้วย สร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด และสร้างอาชีพให้แก่ผู้คนในชุมชนอีกด้วย

ช่างตัดเย็บ จีวรพระ รีไซเคิล ขวดพลาสติก วัดจากแดง

สัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชนรอบวัดจากแดง

“ปกติวันจันทร์ถึงศุกร์ ก็จะมาช่วยคัดแยกขยะที่วัด แล้วก็ทำกิจกรรมตามที่พระอาจารย์ท่านบอก บางทีก็ได้ไปออกบูธแนะนำและสอนการคัดแยกขยะด้วย”   “การคัดแยกขยะเป็นอาชีพที่ทำรายได้ พัฒนาชุมชน รักษาสิ่งแวดล้อม สะอาดขึ้น ดูเป็นระเบียบขึ้น เมื่อเรียนรู้การคัดแยกจะช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อาจเรียกได้ว่า ขยะเป็นเหมือนทองก็ว่าได้”  “รู้สึกดี รู้สึกเป็นบุญ เอาขยะมาถวายวัดเพื่อทำบุญ รู้สึกดี ขยะเหล่านี้กว่าจะย่อยสลายได้ก็ใช้เวลาถึง 500 ปี ดังนั้นหากนำพลาสติกไปต่อยอดทำอย่างอื่นให้มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น”  “ก็รู้สึกดี ยิ่งทราบว่าสามารถนำพลาสติกมาทำ จีวรพระรีไซเคิล ได้ ก็ต้องขอกราบพร้อมกล่าวคำว่า ขอร่วมอนุโมทนาบุญกับทุกๆ ท่าน ที่มีส่วนร่วม”

ผู้ดำเนินรายการกล่าวสรุปสุดท้ายว่า จีวรพระรีไซเคิล จากขวดน้ำพลาสติก ถือว่าเป็นมิติใหม่ของจีวรไทยเลยทีเดียว เดี๋ยวนี้มีคำสั่งซื้อเข้ามาจากต่างประเทศ มีผู้คนสนใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ หากท่านที่สนใจมีส่วนร่วม สามารถส่งขวดพลาสติกเข้ามาที่ วัดจากแดง ถ.เพชรหึงษ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130


ชมรายการย้อนหลังได้ทาง:

“วันใหม่วาไรตี้” https://www.thaipbs.or.th/WanmaiVariety
Website: https://www.thaipbs.or.th
Facebook: https://www.fb.com/ThaiPBSFan
Twitter: https://www.twitter.com/ThaiPBS
Instagram: https://www.instagram.com/ThaiPBS
LINE: https://www.thaipbs.or.th/AddLINE
YouTube: https://www.youtube.com/ThaiPBS


โพสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:

วันใหม่วาไรตี้ ไทยพีบีเอส “จีวร ลดโลกร้อน จากขยะสู่ ผ้ากาสาวพัสตร์” สัมภาษณ์พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร วัดจากแดง