๑๒ มิ.ย. ๖๒ ถวายจีวรรีไซเคิล จากขวดพลาสติก ในพิธีมอบโล่รางวัล ๑๑๒ วัดที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ปี ๒๕๖๑
เมื่อวันที่ ๑๒ มิ.ย. ๒๕๖๒ พระอาจารย์ทิพากร อริโย แห่งศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะ วัดจากแดง อ.พระประแดง จ. สมุทรปราการ ประเทศไทย เป็นตัวแทนจัดนิทรรศการและ ถวาย จีวรรีไซเคิล จาก ขวดพลาสติก โดยมีพระธรรมปัญญาบดี นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีมอบโล่รางวัล ๑๑๒ วัดที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ประจำปี ๒๕๖๑ และรับการถวายไทยธรรม ภายในส่วนการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ร.๑๐ นิทรรศการการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด นิทรรศการของวัดที่มีผลงานโดดเด่นด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และนิทรรศการของภาคีเครือข่ายต่างๆ ณ อาคารหอประชุม มวก. ๔๘ พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพข่าวจาก: คมชัดลึกออนไลน์. (2562). สส. มอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ 112 วัด. เข้าถึงได้จาก https://www.komchadluek.net/news/government-of-thailand/375468)
จีวรรีไซเคิล นี้ มีความพิเศษตรงที่ผลิตจาก ขวดพลาสติกชนิดใส ที่นำมาผ่านกระบวนการ Upcycling เพื่อแปรรูปเป็นเส้นใยรีไซเคิล ก่อนที่จะนำมาถักทอผสมผสานกับเส้นใยเรยอนโพลีเอสเตอร์ เส้นใยฝ้าย และเส้นใยซิงค์โพลีเอสเตอร์ต้านแบคทีเรีย ที่ช่วยลดกลิ่นอับเวลาสวมใส่ โดยจีวร ๑ ผืน จะใช้ขวดพลาสติก จำนวน ๑๕ ขวด และถ้าเป็นผ้าไตรจีวร ๑ ชุด จะใช้ขวดพลาสติก ทั้งสิ้น ๖๐ ขวด
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ได้จัดพิธีมอบโล่รางวัลให้กับ ๑๑๒ วัด ที่ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติวัดที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เป็นแบบอย่างสร้างแรงจูงใจให้กับวัดอื่นๆ ตลอดจนส่งเสริมความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗-๒๕๖๑ โดยคัดเลือกวัดที่สนใจเข้าร่วมดำเนินงาน พร้อมส่งเสริมผลักดันจนผ่านเกณฑ์ประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดแล้ว จำนวน ๔๔๐ วัด
- หมวดที่ ๑ ความสะอาด ความเป็นระเบียบ
- หมวดที่ ๒ พื้นที่สีเขียว
- หมวดที่ ๓ การจัดการสิ่งแวดล้อม
- หมวดที่ ๔ กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
- หมวดที่ ๕ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ระดับการผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด คือ วัดที่ได้คะแนนรวมร้อยละ 65 ขึ้นไป
- ระดับดีเยี่ยม คะแนนร้อยละ 85 ขึ้นไป
- ระดับดีมาก คะแนนร้อยละ 75 – 84.9
- ระดับดี คะแนนร้อยละ 65 – 74.9
*๑๑๒ วัดที่ผ่านเกณฑ์ แบ่งเป็นระดับดีเยี่ยม ๔๓ วัด ดีมาก ๔๑ วัด และดี ๒๘ วัด
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เช่น ปัญหาขยะล้นเมือง มลพิษจากฝุ่น หมอกควัน พื้นที่สีเขียวที่ลดลง รวมทั้งน้ำเน่าเสียจากโรงงาน และจากอาคารบ้านเรือน ส่งผลต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้นทุกภาคส่วน จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะ วัด ถือเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นทั้งสถานที่ศึกษาให้กับชุมชนและสังคม ปัจจุบันวัดในประเทศไทย มีจำนวนกว่า ๓๙,๐๐๐ วัด มีประชาชนเข้าประกอบศาสนกิจและท่องเที่ยวสักการะจำนวนมาก ดังนั้นวัดและพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติตามพระวินัยในพระไตรปิฎก ที่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อระงับการทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ อยู่แล้ว เช่น การห้ามทำลายต้นไม้ ไม่ทิ้งของโดยง่าย ไม่ให้ทิ้งจีวรเก่า แต่ให้นำมาใช้ประโยชน์เป็นทอดๆ จนถึงผ้าขี้ริ้ว การห้ามเผาหญ้า เพราะจะลามไปเผาป่า เป็นต้น จะต้องทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้เทคโนโลยีในสมัยพุทธกาล และปลูกจิตสำนึกแก่ประชาชนให้ช่วยกันฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สำหรับในปี ๒๕๖๑ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จับมือกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑-๑๖ ได้ผลักดันกิจกรรมดังกล่าวในวัด ส่งผลให้มีวัดผ่านเกณฑ์ถึง ๑๑๒ วัด