วัดจากแดง

งานบุญถวายสลากภัต ๑๘ ก.ย. ๒๕๖๐

งานบุญ สลากภัต ประจำปี ๒๕๖๓

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ก.ย. ๒๕๖๓

กรุณาคลิกที่นี่

 


590918_1 590918_2 590918_3

 ความหมาย
     สลากภัต (บาลี: สลากภตฺต) เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎก คำว่า “สลากภัต” มาจากภาษาบาลี คือ สลาก + ภตฺต สองคำมารวมกันเป็น “สลากภัต” แปลว่า อาหารถวายพระภิกษุสงฆ์โดยวิธีจับสลาก นับเข้าในสังฆทาน เพราะเป็นการถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ทั่วไป ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

คำถวายสลากภัตต์
     “เอตานิ มะยัง ภันเต สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุกัฏฐาเนฐะปิตานิ
ภิกขุสังฆะสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ
เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากังเจวะ มาตาปิตุ
อาทีนัญจะ ญาตะกานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ อาสะวักขะยาวะหัง นิพานะปัจจัยโยโหตุ”

คำแปล
     “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งสลากภัตและของอันเป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้ อันตั้งไว้แล้วในที่โน้น แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับ ซึ่งสลากภัตกับทั้งของอันเป็นบริวารทั้งหลายเหล่านั้น ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แด่ญาติทั้งหลาย อันมีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย และเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นอาสวะทั้งปวงจนถึงซึ่งพระนิพพาน ด้วย เทอญ ฯ”

อานิสงส์หรือผลดีของการถวายสลากภัต
โดยสลากภัตนับเนื่องในสังฆทานที่มีอานิสงส์มาก เพราะถือว่าแม้จะตั้งสลากถวายกับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่จับสลากได้ ย่อมเท่ากับถวายกับพระสงฆ์ทั้งหมด เพราะสลากที่จับนั้นพระสงฆ์ทุกรูปในอารามนั้นมีสิทธิ์ได้ นอกจากนั้นสลากภัตยังเป็นหลักการในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เพื่อสร้างจิตสำนึกความเท่าเทียมกันและสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันแก่คณะสงฆ์

  • ๑. ผู้ทำบุญสบายใจที่ได้นำพืชผลที่ตนลงแรงปลูกมาทำบุญ
  • ๒. เป็นการบำรุงพระพุทธศาสนา โดยถวายภัตตาหาร ผลไม้ เครื่องไทยธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้เป็นกำลังสืบพระพุทธศาสนาต่อไป
  • ๓. เป็นการส่งเสริมการเกษตร โดยแพร่พันธุ์ผลไม้พันธุ์ดี อันได้มาจากการถวายสลากภัต
  • ๔. เป็นการปลูกฝังคุณธรรม คือขจัดความเห็นแก่ตัว โดยเลือกสิ่งที่ดีที่สุดมาทำบุญ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนอีกด้วย
  • ในปัจจุบันการถวายสลาก ภัต จัดว่าเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตย ด้วยเพราะเป็นการถวายโดยไม่เจาะจง
  • ๕. เป็นการรักษาประเพณีอันดีงามให้สืบทอดต่อไป

ประวัติสลากภัต
     สลากภัตนี้ ในอดีตกาล มีชายหนุ่มคนหนึ่ง ได้แต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่งที่มารดาเลือกให้ แต่ไม่มีบุตรด้วย มารดาจึงให้แต่งงานกับหญิงอีกคนหนึ่ง เพื่อต้องการให้มีลูกสืบสกุล ต่อมาภรรยาคนที่ 2 ตั้งครรภ์ ภรรยาคนแรกก็มีจิตริษยาเกรงว่าภรรยาคนที่ 2 จะได้ดีกว่าตน จึงหาอุบายเอายาแท้งลูกผสมอาหาร ให้ภรรยาคนที่ 2 กิน ภรรยาคนที่ 2 จึงแท้งลูกถึง 2 ครั้ง พอนางตั้งครรภ์ครั้งที่ 3 นางจึงไม่บอกให้ภรรยาคนที่ 1 ทราบ เพราะนางรู้ว่าการที่นางแท้งลูกถึง 2 ครั้ง เพราะภรรยาคนที่ 1 เอายาแท้งลูกผสมอาหารให้นางกิน นางจึงไม่กินอาหารที่ภรรยาคนที่ 1 จัดให้ ถึงกระนั้นก็ตาม ภรรยาคนที่ 1 ก็ลอบเอายาแท้งลูกผสมอาหารให้นางกินจนได้
นางได้รับทุกขเวทนามีอาการทุรนทุราย ไม่สามารถคลอดลูกได้ เพราะลูกนอนขวางอยู่ในครรภ์ นางรู้ว่าตนเองจะต้องตายแน่ เพราะการกระทำของภรรยาคนที่ 1 นางโกรธมาก อาฆาตพยาบาทจองเวรอธิษฐานขอให้ได้ฆ่าลูกของนางผู้ฆ่าตนและลูกในชาติหน้า ด้วยแรงอาฆาตพยาบาทจองเวรกันไว้นั้น ทำให้หญิงทั้งสองคนผลัดเปลี่ยนฆ่าลูกกันละกันหลายชาติ จนกระทั่งมาในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หญิงคนหนึ่งเกิดเป็นมนุษย์ เป็นธิดาตระกูลหนึ่งในเมืองสาวัตถี ส่วนหญิงอีกคนหนึ่ง เกิดมาเป็นยักษ์ อยู่ในเมืองยักษ์

หญิงที่เป็นมนุษย์คลอดลูก ก็ถูกนางยักษ์จับเอกไปกิน 2 ครั้ง ครั้นตั้งครรภ์คนที่ 3 จึงบอกให้สามีพานางหนีไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาของเธอ เพื่อคลอดลูก เมื่อคลอดลูกแล้วสามีก็พานางกลับไปอยู่บ้านเดิม ขณะเดินทางกลับบ้านนั้น จะเดินผ่านวัดเชตวันมหาวิหาร สองสามีภรรยาก็แวะพักอาบน้ำที่สระวัด ขณะที่สามีกำลังอาบน้ำ นางก็อุ้มลูกกินนม นางยักษ์ตามมาทัน เพื่อจะจับลูกของนางกิน นางก็อุ้มลูกน้อยวิ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังแสดงธรรมเทศนาอยู่ นางเอาลูกของนาง ไปวางไว้แทบพระบาทของพระพุทธเจ้า กราบทูลวิงวอนขอให้ช่วยเหลือ อย่าให้นางยักษ์จับลูกนางไปกิน นางยักษ์ไม่สามารถเข้าไปในวิหารได้ เพราะถูกเทวดารักษาอยู่ที่ประตูวิหารห้ามไว้ พระพุทธเจ้าสั่งให้พระอานนท์ ไปเอานางยักษ์ เข้ามาเฝ้า พระพุทธเจ้าประทานโอวาทให้หญิงที่สอง ให้เลิกผูกอาฆาตพยาบาทจองเวรกันเสีย ให้นางยักษ์รับศีล 5 ให้หญิงที่เป็นมนุษย์รับนางยักษ์ไปเลี้ยงดูในบ้าน ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองคนมนุษย์และยักษ์ ก็รักใคร่นับถืออยู่ร่วมกันเหมือนญาติพี่น้อง ต่อมาหญิงที่เป็นมนุษย์ ก็จัดนางยักษิณีไปอยู่เป็นเอกเทศต่างหาก แต่อุปถัมภ์บำรุงปฏิบัติให้มีความสุขตลอดมา

 ฝ่ายนางยักษิณี ก็ตั้งอยู่โอวาทของพระพุทธเจ้า และรักษาศีล 5 เลิกฆ่าสัตว์ เป็นผู้มีเมตตา กรุณา ระลึกนึกถึงบุญคุณของหญิงที่เป็นมนุษย์ ที่อุปถัมภ์เลี้ยงดูตน จึงตอบแทนบุญคุณ โดยทำนายลักษณะดินฟ้าอากาศประจำปีว่า จะมีฝนตกมากตกน้อย ให้หญิงที่เป็นมนุษย์ฟัง หญิงที่เป็นมนุษย์รู้ว่าปีนี้น้ำมาก ก็ทำนาในที่ดอน ฝนตกน้อยก็ทำนาในที่ลุ่ม ปรากฏว่าการทำนาของก็ได้ผลดี ชาวบ้านก็มาถามนาง นางก็บอกไปว่านางยักษิณีเป็นคนทำนายให้ เมื่อชาวบ้านทำนาได้ผลดี ชาวบ้านก็ระลึกนึกถึงบุญคุณนางยักษิณี ก็นำเอาข้าวปลาอาหาร ไปให้กับนางยักษิณี นางยักษิณีได้เข้าปลาอาหารมากอย่างนั้น ก็นำเอาสิ่งเหล่านั้นไปทำบุญกับพระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ โดยตั้งสลากภัตไว้ถวายพระภิกษุวันละ 8 รูป โดยให้พระภิกษุเหล่าจับสลากหมุนเวียนไปรับภัตตาหร และเครื่องไทย ของนางยักษิณีเป็นประจำ การถวายสลากภัตเป็นทาน ก็ปรากฏมีมาตั้งแต่บัดนั้น สืบจนถึงปัจจุบัน

 

วิธีปฏิบัติ
วิธีถวายสลากภัตที่ทำกันเป็นประเพณีอยู่โดยมาก มีทายกเป็นหัวหน้าป่าวร้องกันด้วยปากบ้าง ทำเป็นใบฎีกาบอกบุญเที่ยวแจกกันบ้าง แล้วกำหนดวัน เวลา สถานที่ เช่น ตามวัด ศาลาโรงธรรม เมื่อถึงวันที่กำหนด ผู้รับสลากภัตก็จัดผลไม้ ภัตตาหาร ไทยธรรมมากบ้าง น้อยบ้างตามกำลัง นำไปยังที่ที่กำหนดไว้ บางรายทำกันอย่างครึกครื้น แห่แหนกันอย่างสนุกสนาน ครั้นประชุมพร้อมกันหัวหน้าทายกก็ให้ผู้รับสลากภัตจับสลาก การจับสลากนั้นบางทีเขียนชื่อพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นทั้งหมด หรือเท่าจำนวนที่กำหนดไว้ ทำเป็นธงม้วนไว้ให้ทายกจับ จับได้ชื่อพระภิกษุ สามเณรรูปใดก็นำไปถวายรูปนั้น หรือเขียนเลขไปเท่าจำนวนพระภิกษุสามเณรทำเป็นธงให้ทายกจับแล้วไปเสียบไว้ที่ของตนและทำสลากขึ้นอีกส่วน หนี่งเท่ากับจำนวนที่ทายกจับไปแล้วให้พระภิกษุสามเณรจับ จับได้ตรงกับเลขของใคร ผู้นั้นก็นำของไปถวาย แก่พระภิกษุสามเณรที่มีเลขตรงกัน ข้อสำคัญของการถวายสลากภัตมีว่า ให้ตั้งใจถวายตามสลากจริงๆ อย่าแสดงความยินดียินร้ายเจาะจงในผู้รับ เมื่อเสร็จพิธีจับสลากแล้วให้กล่าวนโม ๓ จบ พร้อมกัน แล้วจึงกล่าวคำถวายสลากภัต โดยมีหัวหน้ากล่าวนำเป็นวรรคๆ ผู้อื่นกล่าวตามทั้งคำบาลี และคำแปลเมื่อจบคำถวายแล้ว พระภิกษุสามเณรทั้งนั้นรับ “สาธุ” พร้อมกัน
พิธีสลากภัตนี้ ในประเทศไทยในแต่ละภาคก็ยึดถือปฏิบัติกันมา แต่เรียกชื่อต่างกัน ภาคกลางเรียกว่า ประเพณีสลากภัต ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ภาคเหนือ จะเรียกว่า “งานบุญตานก๋วยสลาก” และภาคอีสานจะเรียกว่า “งานบุญข้าวสาก”ในทางภาคใต้ก็จะเป็นประเพณีบุญเดือนสิบ

เอกลักษณ์ประเพณีสลากภัตทางภาคเหนือ
พิธีสลากภัตทางภาคเหนือเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” คำว่า “ก๋วย” คือ ชะลอม คำว่า “สาก” คือสลาก หมายถึง การเขียนสลาก ระบุชื่อเจ้าของชะลอม ภาชนะหรือตะกร้าใส่สิ่งของ
ตานก๋วยสลาก เป็นภาษาของชาวถิ่นล้านนา ประเพณี “ตานก๋วยสลาก” หรือ “สลากภัต” ของชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ เหนือถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นการถวายปัจจัยแด่พระสงฆ์ในเทศกาลเข้าพรรษ และบวกกับในช่วงเวลานี้ก็มีผลไม้สุก เช่น ลำไย มะไฟ สมโอ เป็นต้น เมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจี ชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดี การดำรงชีวิตก็เริ่มขัดสน เมื่อข้าวในยุ้งก็หมดก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมาถึง ดังนั้น การตานก๋วยสลากในช่วงนี้จึงเท่ากับว่าได้สงเคราะห์คนยากคนจนเป็นสังฆทานได้กุศลแรง
ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลาก 1 วันเขาเรียก “วันดา” หรือ “วันสุกดิบ” วันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ต่างๆ สำหรับที่จะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลากและวันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมจัดดาสลากด้วย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกันผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า)
สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่างๆ ก๋วยจะกรุด้วยใบตอง/หรือตองจี๋กุ๊ก เมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็กๆ สำหรับเสียบสตางค์/กล่องไม้ขีดไฟ/บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอดก๋วยสลากจะมากน้อยบ้างตามแก่กำลังศรัทธาและฐานะ
ก๋วยสลากจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ

  1. ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติน้องเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น ช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้น หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า
  2. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง
    สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ ” สลากโชค” มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี (บางคน) ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับอันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน

” สลากโชค” มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่ สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ผูกมัดติดกับต้นสลาก เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหาร แห้งต่างๆ และเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่างๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน ตัวอย่างเช่น “ศรัทธาหมายมีนายอดุมทรัพย์ นางสำรวย ถวายตานไปหาพ่ออุ้ยทองแม่อุ้ยคำ ผู้ล่วงลับ ขอหื้อไปรอด ไปเถิงจิ่มเต่อ” เป็นต้น
ในสมัยก่อนนั้นจะนำเอาใบลานมาทำเป็นเส้นสลาก แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้วเส้นสลากก็จะถูกนำไปกองรวมกัน ไว้ในวิหารหน้าพระประธานเมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้วเส้นสลากจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนกันไปในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่างๆ รูปละ ๕ เส้น ๑๐ เส้นบ้างแล้วแต่กรณี ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพก่อนจะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาสก่อนจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้นๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการให้ศีลให้พรมีการหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลไปให้กับผู้ที่ล่วงลับเป็นเสร็จพิธี

เอกลักษณ์ประเพณีสลากภัตทางภาคใต้
พิธีกรรมงานบุญเดือนสิบ หรือภาษาท้องถิ่น เรียกว่า วันชิงเปรตนั้นในเดือนสิบ มีการทำบุญที่วัด 2 ครั้ง การทำบุญทั้งสองครั้ง เป็นการทำบุญที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบุพการีผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยอุทิศส่วนกุศลไปให้วิญญาณของบรรพบุรุษที่ตกอยู่ในเปรตภูมิ เป็นคติของศาสนาพราหมณ์ที่ผสมในประเพณีของพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญ ณ วัดที่เป็นภูมิลำเนาของตนเพื่อร่วมพิธีตั้งเปรตและชิงเปรต อาจสับเปลี่ยนกันไปทำบุญ ณ ภูมิลำเนาของฝ่ายบิดาครั้งหนึ่งฝ่ายมารดาครั้งหนึ่ง จึงทำให้ผู้ที่ไปประกอบอาชีพจากถิ่นห่างไกลจากบ้านเกิดได้มีโอกาสได้กลับมาพบปะสังสรรค์และรู้จักวงศาคณาญาติ

ครั้งแรก วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า วันรับเปรต
ครั้งที่สองวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า วันส่งเปรต

โดยถือคติว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วโดยเฉพาะ ผู้ที่ต้องตกนรกหรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ดังนั้น จึงมีการทำบุญในสองวาระ ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เพราะมีความสำคัญมากกว่า
การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้ มีชื่อเรียกเป็น ๔ อย่างคือ

  ๑. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
  ๒. ประเพณีทำบุญวันสารท โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความสัมพันธ์กับอินเดียเหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลาง ดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีทำบุญสารทหรือเดือนสิบ
  ๓. ประเพณีจัดห.ม.รับ (สำรับ) การยกห.ม.รับ และการชิงเปรต คำว่า จัดห.ม.รับ ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อ ๆ การยก ห.ม.รับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุ ในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โต  บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรต นั้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ กล่าวคือ เมื่อจัดห.ม.รับ ยก ห.ม.รับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่ง ต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรต โดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบ ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม ๕ อย่าง คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง ขนมดีซำ และขนมบ้า สถานที่ตั้งอาหาร เป็นร้านสูง พอสมควร เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา) เปรต มีสายสิญจน์วงรอบ โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พับเก็บสายสิญจน์แล้ว ก็จะมีการแย่งอาหารและขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนานเรียกว่า ชิงเปรต แล้วนำมากิน ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล การทำบุญด้วยวิธีตั้งเปรตและชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้ บางครั้งเรียกว่า การฉลอง ห.ม.รับและบังสุกุล ถือว่าสำคัญเพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย
  ๔. ประเพณีทำบุญตายายหรือประเพณีรับส่งตายาย โดยถือคติ ว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และกลับนรกตามเดิมในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ แต่มีบางแห่งถือว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เหล่านี้เป็นตายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่านกลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายาย ของทำบุญก็เหมือนกับที่กล่าวไว้ในข้อ ๓
งานบุญเดือนสิบหรือประเพณีชิงเปรตนี้ นับเป็นงานบุญที่สำคัญของชาวภาคใต้ และถือเป็นการรวมญาติมิตรที่อยู่ห่างไกลภูมิลำเนาได้กลับมาพบเจอเพื่อร่วมทำบุญ แสดงให้เห็นวัฒนธรรมไทยที่มีคุณค่าต่อจิตใจ และค่านิยมในเรื่องของความกตัญญูได้อย่างดี

เอกลักษณ์ประเพณีสลากภัตทางภาคอีสาน

วันเพ็ญเดือนสิบของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลหลังจากการทำนา ชาวบ้านในภาคอีสานของประเทศไทย จะร่วมกันทำบุญตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมา โดยนำภัตตาหารคาว-หวานไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เราเรียกการทำบุญนี้ว่า “บุญข้าวสาก”

คำว่า “สาก” ในที่นี้มาจากคำว่า “ฉลาก” ในภาษาไทย บุญข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้แต่ละท้องถิ่นทำไม่เหมือนกัน เช่นในบางท้องถิ่นอาจจะจัดของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาตำราหลวง มาทำเป็นห่อๆ นำไปถวายพระ ก่อนจะทำพิธีถวายก็จะมีการจับฉลากก่อน ทีนี้พอตนเองจับฉลากได้เป็นชื่อของพระเณรรูปใด ก็นำไปถวายตามนั้น ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการเสี่ยงสมภาร (บารมี) ว่าในปีนี้ดวงชะตาหรือชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร มีการทำนายไปตามลักษณะของพระหรือเณร ที่ตนเองจับฉลากได้ เช่น บางคนอาจจะจับได้พระที่เป็นผู้ที่อายุพรรษามากถือว่าเป็นผู้มีชีวิตมั่นคง หรือจับฉลากถูกพระเปรียญหรือเณรมหาก็ถือว่าเป็นผู้ที่สติปัญญามาก เป็นต้น

บางท้องถิ่นจะมีการทำข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้เป็นลักษณะห่อด้วยใบตองกล้วย เอาไม้กลัดหัวกลัดท้ายมีรูปลักษณ์คล้ายๆ กลีบข้าวต้ม แต่ไม่พับสันตองเหมือนการห่อข้าวต้ม แล้วเย็บติดกันเป็นชุดๆ ภายในห่อนั้น บางห่อบรรจุหมาก พลู บุหรี่ ข้าวต้ม ข้าวสาร ปลา เนื้อ เป็นต้น ซึ่งแต่ละห่อนั้นไม่ซ้ำกัน แล้วนำไปแขวนห้อยไว้ตามต้นไม้ หรือรั้วบริเวณวัด ในตอนเช้าดึกของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เสร็จแล้วจะมีการตีโปง กลอง ฆ้อง ระฆัง เป็นสัญญาณป่าวร้องให้เปรตมารับเอา พิธีการเช่นนี้เรียกว่าแจกข้าวสาก หลังจากนั้นเป็นเรื่องของชาวบ้านที่จะเก็บคืนมา ในบางที่มีการแย่งกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งตอนนี้เรียกว่า “ชิงเปรต” หรือ แย่งข้าวสาก โดยมีความเชื่อท้องถิ่นที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟังว่า ผู้ใดแย่งข้าวสากกากเดนเปรตมากิน จะเป็นคนที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ ปราศจากโรคหรือพยาธิต่างๆ ใบตองที่ห่อข้าวสาก ก็นำเอามาเก็บไว้ตามไร่นาตากล้า (สถานที่เพาะข้าวกล้าก่อนปักดำ) เชื่อว่าจะทำให้ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ดี บุญข้าวสากเป็นช่วงที่กำลังอุดมสมบูรณ์ บริบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร

 ในการทำบุญข้าวสากนี้ เป็นเรื่องที่คนอีสานใส่ใจมากกว่าบุญข้าวประดับดิน เพราะว่าเป็นเรื่องของความเชื่อที่ว่า ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นวันที่พระยายมภิบาล เปิดขุมนรกให้สัตว์นรกได้มารับส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติพี่น้องที่อยู่ในมนุษย์โลก ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ไปจนถึงเที่ยงคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทีนี้ในเมื่อพวกเปรต หรือสัตว์นรกเหล่านั้นมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่อยู่ในมนุษย์โลก พวกที่ได้รับบุญกุศล ที่เกิดจากการทำบุญข้าวสากนี้ ก็จะอวยพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่ง ที่ต้องการและปรารถนา ในทางตรงข้าม ถ้าหากว่ามาแล้วเกิดไม่ได้ส่วนบุญอะไรเลย ก็จะน้อยเนื้อต่ำใจว่า ลูกหลานไม่ใส่ใจ ถึงแม้ว่าผู้อื่นไม่ใช่ญาติสายโลหิตจะอุทิศแผ่ส่วนบุญไปให้ ก็ได้แต่เลียใบตองห่อข้าวสากเท่านั้น ซึ่งไม่ถึงกับอี่มท้องอะไรเลย ก็ได้สาปลูก แช่งหลานที่ไม่เอาใจใส่ มัวแต่แย่งทรัพย์สมบัติมรดก ที่เขาหามาในขณะยังมีชีวิตอยู่ จนกระทั้งลืมผู้มีพระคุณ ในเรื่องนี้ออกจะทำให้น่ากลัวเกรงโทษ ในการทอดทิ้งผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะพ่อแม่ ญาติสายโลหิต ควรได้รับการเอาใจใส่จากลูกหลาน ทั้งในขณะยังมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่ตายไปแล้ว  

ในประเพณีบุญเดือนสิบนี้ บางท้องถิ่นจะจัดให้มีการถวายทาน รักษาศีล เพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศล ไปให้ปวงญาติที่ตายไปแล้ว นอกจากนี้ยังจัดให้มีการฟังเทศน์ตลอดทั้งวันอีกด้วย โดยเรื่อง ที่นำมาเทศน์ส่วนมากเป็นเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น และมีอิทธิพลต่อความเชื่อของท้องถิ่น ในลักษณะของการขัดเกลาจิตใจ และเร่งเร้าให้ทำคุณงามความดีในรูปแบบต่างๆ เช่น เรื่องมโหสถ เรื่องพระเจ้าสิบชาติ เรื่องท้าวกำกาดำเป็นต้น บุญเดือนสิบถือได้ว่าเป็นประเพณีอันดีงามของคนอีสาน ที่ควรเอาใจใส่ประพฤติปฏิบัติกัน


คลิกดู รูปสลากภัต โพสที่เกี่ยวข้องกับ

********************************
แหล่งข้อมูล :

https://th.wikipedia.org/wiki/สลากภัต
http://www.prapayneethai.com/ประเพณีถวายสลากภัต
http://www.watdhammaram.org/?name=news&file=readnews&id=141