แท้จริงแล้ว พลาสติก เป็น จำเลยสังคม จริงหรือ? โดย Local Talk

แท้จริงแล้ว พลาสติก เป็น จำเลยสังคม จริงหรือ?  รายการ Local Talk  สัมภาษณ์ พระทิพากร อริโย โพธิ์สิกขา ศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อม วัดจากแดง 

สมัยก่อนเราอยู่กัน พื้นที่ของบ้านเราจะมีกันประมาณ 30-40 ไร่ เป็นท้องไร่ท้องนา และเราก็ไม่มีปัญหาเรื่องขยะ เราจัดการมันด้วยวิธีฝังกลบ แต่ทุกวันนี้ที่มันเริ่มเล็กลง คนเริ่มมีเพิ่มมากขึ้น แต่พฤติกรรมของพวกเรายังเหมือนเดิม คือ สะดวกสบายกับการทิ้งง่ายๆ ไม่ได้มานั่งคิดกันเรื่องจะต้องคัดแยก เมื่อปัญหามันเกิดขึ้นส่งผลกระทบมากมายนานนับสิบปี วันนี้เราจึงต้องเรียนรู้ว่า แท้ที่จริงขยะมันเกิดจากการที่เราไม่ได้ถูกฝึก ถูกสอนให้จัดการกับของที่เราใช้แล้ว คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับมัน เมื่อต้องทิ้ง

ขยะ แม่น้ำเจ้าพระยา วัดจากแดง

ความอัศจรรย์ของการเอาขยะมาเป็นครู

ช่วงเวลาหนึ่งสังคมเรา มองว่าถ้าพูดเรื่องขยะแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของคนที่อาจจะมีการศึกษาน้อย เรื่องขยะเป็นเรื่องสกปรก เป็นเรื่องของคนที่ไม่มีงานทำ ปัจจุบันก็ยังถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องของ เทรนด์ เป็นเรื่องของการสร้างกระแสรักษ์โลก เพื่อสร้างแคมเปญการตลาด ผลักดันธุรกิจ มองเป็นเรื่องน่าเบื่อ

จุดแยกขยะ คัดแยกขยะ วัดจากแดง

หลายคนมักตั้งคำถามว่า “ทำกันจริงๆ เหรอ… ทำไปเพื่อ.. ทำบ้าอยู่คนเดียวนะ คนอื่นๆ เขาไม่ทำด้วย” ซึ่งนั้นก็เป็นเพราะเขามองเรื่องผลประโยชน์แต่ภายนอก แต่ไม่ได้มองเห็นผลที่เกิดกับจิตใจ ถ้าเราฝึกทำมันจนเกิดนิสัย ทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ถ้าหากเราสอนลูกหลานเรา มันก็เป็นนิสัยติดตัวไปกับลูกหลานเรา กลายเป็นมนุษย์ที่มีความคิดสูงส่ง เห็นมั้ยว่า เราได้ใช้เรื่องของขยะ เอามาเป็นครูสอนเรื่องการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง เมื่อคนเรามีวินัยไม่ใช่เฉพาะเรื่องขยะ มันจะส่งผลต่อสังคม ส่งผลดีต่อโลกของเรา ทำให้อยู่กันได้อย่างมีความสุข

 

ผู้ที่ไม่ได้ถูกฝึกให้มีวินัย

ถ้าหากจะกล่าวว่า คนไทยขาดวินัย ก็คงยากจะหาเหตุผลมาเอาชนะ อย่างกรณีที่เราคนไทยได้ใช้พลาสติกกันมา 65 ปีแล้ว คนหลายรุ่นล้วนมีชีวิตที่ สะดวกสบาย ไม่เคยมาการมาบอก หรือติดป้ายไว้ว่า พลาสติกที่ใช้เสร็จแล้ว จะต้องทำอย่างไร ทุกคนเลยเข้าใจว่าโยนทิ้งถังขยะแล้วเทศบาลมาขนไป ก็จบ แต่พอมันเริ่มไปกระทบสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เกิดภาพสลดมากมาย ที่ทำให้คิดไปเองว่า พลาสติกคือจำเลย เป็นผู้ร้าย เป็นนักโทษที่ต้องถูกประหาร ทั้งๆ ที่คนนั่นแหละ คือผู้ร้ายตัวจริง

พระทิพากร อริโย

พอมาถึงวันนี้ เราเริ่มเจริญทางความคิดมากขึ้น เรารู้ว่าสามารถเปลี่ยนสิ่งที่เรียกว่าขยะให้กลายเป็นวัตถุดิบได้ เราเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นถุงผ้า เราผลิตถุงผ้าจำนวนมากจากขยะ แต่เมื่อเรามีถุงผ้ามากขึ้นๆ เรากลับทำสิ่งที่ผิดพลาดซ้ำอีก นั่นคือ เราเก็บถุงผ้าไว้ แล้วทิ้งให้มันกลายเป็นขยะใหม่ เราไม่รู้ว่าจะใช้ถุงผ้ายังไง  “ขนาดยาที่เรากิน ยังมีการแจ้งเตือนวิธีการใช้ยา แต่ขยะเรากลับไม่มีการแจ้งเตือน” ดังนั้นเราจึงต้องกลับมาสอนกันเรื่องคัดแยกขยะว่าทำอย่างไร ต้องมีการฝึกอบรม สร้างนิสัย สร้างวินัยให้เกิดขึ้นกับทุกอย่างที่เราใช้ของ

 

ศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อม

คุ้งบางกะเจ้า พื้นที่ส่วนหนึ่งบริเวณโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีรูปร่าง คล้ายกระเพาะหมู ครอบคลุมพื้นที่กว้างถึง 6 ตำบล ได้เกิดมีโครงการที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิชัยพัฒนา จัดเวทีประชาคม เป็นองค์กรที่ทรงความรู้ และนำความรู้นั้นมาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงประสานหน่วยงานและภาคเอกชนต่างๆ ให้เข้าถึงกัน  ที่วัดเราทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องการจัดการขยะ วันนึงเขาได้เข้ามาช่วยดูกิจกรรมที่วัด พบกับพระอาจารย์ท่านเจ้าอาวาส และได้ใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์ Recycle ท่านเจ้าอาวาสก็ถามว่าเสื้อที่โยมใส่อยู่นี้ทำมาจากอะไร โยมก็ตอบว่า ทำมาจากขวดพลาสติก ท่านเจ้าอาวาสจึงถามว่า “เอามาทำเป็นจีวรได้ไหม”

นี่คือจุดเริ่มที่สร้างแรงจูงใจ แล้วพัฒนาต่อเนื่องเรื่องมาจนตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อม เพื่อถ่ายทอดส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ ให้ผู้คนได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องนี้ เนื่องจากคนยังไม่รู้มากนัก แม้ว่านวัตกรรม การอัพไซคลิ่ง (Upcycling) นี้ มันจะมีมานานนับสิบปีแล้ว

จิตอาสา วัดจากแดง

จุดตัดเย็บและจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากขวดพลาสติกรีไซเคิล เป็นพื้นที่ที่เราทำในขั้นตอนสุดท้าย หลังจากที่ได้ผ้าย้อมสีราชนิยม (สีกลางที่พระภิกษุทั้งประเทศสวมใส่ในงานเข้าพิธีการต่างๆ) ช่างที่เป็นชาวชุมชนจิตอาสา ทำการตัดเย็บเป็นผ้าไตรจีวรของพระคือ จีวร สบง สังฆาฏิ

ศาสตร์ องค์ความรู้เหล่านี้ มันไม่ใช่ของใหม่ เมื่อได้มาลงมือทำ ค่อยๆทำ ในแต่ละวันที่ผ่านไป มันคือการขัดเกลาตัวเอง ฝึกตัวเองขึ้นมา ทำจนไปสอนบอกคนอื่นได้ คือ สอนให้คนมีจิตสำนึกแล้วคิดให้ออกก่อนที่จะทิ้ง การที่จะทำให้ผู้คนรับรู้เรื่องเหล่านี้ได้ ก็ไม่ใช่เพียงทำป้ายมาติดเชิญชวนให้คัดแยกขยะ ป้ายที่เห็นในวัดนี้จะติดให้ผู้ที่ถูกฝึกมาแล้วเท่านั้น คนที่ไม่ได้ฝึกคัดแยกเห็นป้ายเหล่านี้แล้ว มันก็ไม่มีความหมาย

 

เราจึงต้องสอนให้ผู้คนเข้าถึงฉันทะ คือ ความพึงพอใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน เราจะเริ่มต้นจากจิตที่ใสสะอาด ที่ทำเรื่องเหล่านี้แล้วมีความสุข เพราะเห็นผลประโยชน์เกิดขึ้นกับตนแล้ว ก็จะหยุดไม่ได้ที่จะทำต่อไป เข้าจะค้นพบว่า ขยะเนี่ย จริงๆ แล้ว มันไม่มีหรอก ถ้ารู้จักวางแผนคัดแยกขยะ มาตั้งแต่อยู่ในครัวเรือน ที่ทำงาน สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตน ทำให้เกิดเป็นงาน ที่จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนได้ คัดแยก ทำให้มันมีมูลค่าเพิ่ม สามารถขายเป็นวัตถุดิบในการรีไซเคิลได้ จนอาจกลายเป็นธุรกิจในระดับชุมชนได้ 

ตัดเย็บจีวร วัดจากแดง

สำหรับผู้ที่เดินทางมาดูงานที่วัดจากแแดง บางท่านก็ประสงค์จะเข้ามาศึกษาด้วยเพียงเรื่องเดียวเลย เช่น เรื่อง น้ำเอนไซม์ หรือปุ๋ยชีวภาพ บางคนก็สนใจเรื่องการทำกระดาษอย่างเดียว เรียนรู้นวัตกรรมเสร็จแล้วก็จะได้เรื่องพัฒนาจิตใจ ได้จิตสำนึก สร้างนิสัยการจัดการขยะเพื่อรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม  ติดตัวกลับไปด้วย

การดำเนินงานด้านนี้ทางวัด และภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกับภาคประชาชน ช่วยกันทำโดยไม่หวังพึ่งความช่วยเหลือ หรืองบประมาณจากองค์กรของรัฐ จงเรียนรู้ความสำเร็จจากที่ ประชาชนคนไต้หวันทำกันไว้เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ทุกวันประชาการเกิดใหม่โตขึ้นมาเขาก็แยกขยะเป็นหมดแล้ว ถ้าวันนี้เราไปถามคนในชาติเขาว่า “เลิกแยกขยะได้ไหม” ก็อย่าได้ไปถามเหมือนดูถูกเขา มันกลายเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเขาไปแล้ว  แต่ในประเทศเรามันยังทำไม่ได้อย่างเขา เรายังไม่มีสำนึกคัดแยกขยะตรงนี้ ทุกวันนี้เรายังทิ้งขยะรวมๆ กัน กองไว้หน้าบ้าน รอเทศบาลมาเก็บไป แล้วหลงคิดไปว่า นั่นคือ จบแล้ว

 


ภาพและข่าวจาก: 


โพสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแยกขยะ:

 

แท้จริงแล้ว พลาสติก เป็น จำเลยสังคม จริงหรือ? โดย Local Talk